นวนิยายเพื่อชีวิตของเสนีย์ เสาวพงศ์ เรื่อง “ปีศาจ” ถือได้ว่าเป็นก้าวใหม่ของนวนิยายไทยที่แหวกม่านขนบเดิม ซึ่งล้วนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก แต่ “ปีศาจ” เป็นนวนิยายสะท้อนสังคม โดยได้นำเสนอแนวคิดที่ว่า “ผู้ที่พยายามก้าวข้ามกำแพงจารีตหรือค่านิยมแบบเก่าจะถูกตราหน้าว่าเป็นปีศาจ
ด้วยลักษณะการนำเสนอแนวคิดดังกล่าว ทำให้ “ปีศาจ” เป็นนวนิยายที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งทางสังคมด้านชนชั้นผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่ ดังเช่น สาย สีมา ตัวละครเอก ซึ่งเป็นลูกชาวนาผู้ใช้การศึกษาผันชีวิตก้าวสู่การเป็นปัญญาชน ชนชั้นกลางในมหานครใหญ่ สาย สีมา อาจจะเปรียบเทียบได้กับเสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งก็เป็นปัญญาชน ผู้มีชีวิตเริ่มต้นจากการเป็นลูกชาวนาเช่นเดียวกัน นอกจากนี้เสนีย์ เสาวพงศ์เองก็เป็นถึงอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำพม่า ทำให้สามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาในมุมมองของอดีตคนชนชั้นล่างที่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคจนกลายมาเป็นปัญญาชนได้ด้วยการศึกษาได้อย่างชัดเจน อีกทั้งตัวเสนีย์ เสาวพงศ์เองก็มีแนวคิดที่ต่อต้านค่านิยมแบบเก่าที่มองและประเมินคุณค่าในตัวคนคนหนึ่งจากสายสกุลเท่านั้น ผู้ใดที่ไม่ใช่ชนชั้นสูงด้วยชาติกำเนิดจะถูกดูหมิ่นเหยียดหยามและถูกตีกรอบว่าจะไม่มีทางทัดเทียมชนชั้นสูงได้เป็นอันขาด ซึ่งแนวคิดค่านิยมแบบเก่าเช่นนี้ ผู้เขียนนำเสนอผ่านการกระทำของท่านพ่อของรัชนีที่กล่าวถาม สาย สีมาเมื่อแรกพบว่า “เธอลูกใคร” (หน้า 198) หรือการกล่าวดูหมิ่นสาย สีมา ว่า “คนเราไม่มีสกุลรุนชาติจะเป็นคนดีได้อย่างไร มีใครอบรมสั่งสอน ความเป็นผู้ดีน่ะ มันอยู่ในสายเลือด ถ้าเลือดไพร่แล้ว ยังไงก็เป็นไพร่” (หน้า 205)
นอกเหนือไปจากสาย สีมา แล้ว ยังมีตัวละครอันเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ในนวนิยายเรื่องนี้ คือ รัชนี กิ่งเทียน และนิคม รัชนี ผู้เป็นสตรีถือกำเนิดในวงศ์ชนชั้นสูง แต่กลับแหวกขนบอันเคร่งครัดแห่งวงศ์ตระกูล โดยยึดถือวิถีแห่งสตรีหัวก้าวหน้าที่เห็นความสำคัญของการศึกษาเล่าเรียนและมุ่งใฝ่หาความตื่นเต้นในชีวิตจากหน้าที่การงาน ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นอันใดอีกทั้งไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากบิดาด้วย แต่ด้วยความชิงชังแนวความคิดแบบเก่า ทำให้รัชนี ผู้เคยเกรงกลัวต่อการครอบงำของแนวความคิดแบบเก่านั้น กล้าที่จะลุกขึ้นมาปฏิเสธอิทธิพลของแนวความคิดนั้นและเลือกที่จะทำในสิ่งที่ตนปรารถนาในตอนท้ายของเรื่อง นอกจากนี้ก็ยังมีกิ่งเทียน เพื่อนสนิทของรัชนี ผู้มีฐานะปานกลางค่อนไปทางยากจน แต่กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ แม้จะประสบความยากลำบากทางการเงินแต่ก็มิใช่อุปสรรคขัดขวางการเข้าถึงความเป็นผู้แสวงหาอุดมการณ์เพื่อสังคมในการเป็นครูภูธรของเธอเลย และนิคม ปลัดหนุ่มไฟแรง ผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์เช่นเดียวกับกิ่งเทียน ผู้เป็นสตรีที่เขารัก ซึ่งตัวละครทั้งสองได้เปรียบเปรยสภาพทางสังคมและความแตกต่าง
ทางชนชั้นไว้อย่างมีศิลปะว่า “ที่ที่รกย่อมต้องการคนถางมากกว่าที่ที่เตียนแล้วเป็นธรรมดา” (หน้า 63) สะท้อนสภาพสังคมที่อยู่กับที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่ง “ที่ที่รก” ย่อมต้องการ “คนถาง” นั่นคือ ผู้มีการศึกษาและเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณและอุดมการณ์ เพื่อที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคม จึงนับเป็นการเปรียบเปรยที่เฉียบคมยิ่ง
กลวิธีการนำเสนอของ “ปีศาจ” ได้นำเสนอโดยใช้ สาย สีมา เป็นหัวหอกสำคัญในการต่อต้านและปฏิเสธการดำรงอยู่ของแนวคิดแบบเก่า และเป็นตัวละครในเรื่องนี้เพียงคนเดียวที่ถูกปรามาสว่าเป็น “ปีศาจ” จากการกระทำของตนเอง โดยสาย สีมายอมสละความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณอย่าง “มหาจวน” ผู้พาสาย สีมา มาศึกษาเล่าเรียนในเมืองกรุงจนได้ดิบได้ดี ด้วยเห็นใจและสงสารชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการมีภาระหนี้สินรุงรังเพราะไปกู้หนี้ยืมสินมาจากภรรยาของมหาจวน ทำให้มหาจวนบริภาษสาย สีมาว่า “อ้ายปีศาจตัวนี้มันอกตัญญู ฉันอุปถัมภ์มันมาแท้ๆ มันเนรคุณ” (หน้า 136) อีกทั้งสาย สีมา ยังถูกบริภาษจากบิดาของรัชนี ผู้ซึ่งรังเกียจชาติกำเนิดของสาย สีมาว่า “ไอ้ปีศาจตัวนี้มันมาหลอกหลอนฉันอยู่ทุกคืนวัน” (หน้า 221) ไม่เพียงเท่านั้น สาย สีมา ยังยอมรับตนเองอย่างกล้าหาญต่อหน้าธารกำนัลในงานเลี้ยงของชนชั้นสูง ซึ่งมีเขาผู้เดียวที่ไม่ใช่ชนชั้นสูงไปร่วมงานว่าตนคือปีศาจ โดยเขากล่าวไว้ว่า “ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า” (หน้า 264) แต่อย่างไรก็ดี ความเป็น “ปีศาจ” ไม่ได้มีอยู่ในตัวของสาย สีมา เท่านั้น แต่รัชนีเอง ก็มีสิ่งนั้นอยู่ในตัว โดยรัชนีตัดสินใจศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ทำงานในธนาคารและปลดบ่วงที่พันธนาการตัวเธอไว้กับจารีตขนบแบบเก่าโดยปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ การกระทำของรัชนีดังกล่าวนี้จึงถือเป็นลักษณะของกบฏต่อความคิดแบบเก่าที่เรียกได้ว่าเป็น “ปีศาจ” เช่นกัน แต่ด้วยความที่รัชนีเป็นสตรีศักดินา จึงเป็นโล่กำบังชั้นดีไม่ให้ถูกกล่าวร้ายอย่างสาดเสียเทเสียเช่นสาย สีมา
ความเป็น “ปีศาจ” จึงไม่ได้ยึดติดอยู่แค่ความเป็นปัจเจกบุคคลที่เพ่งเล็งว่าสาย สีมาเป็นปีศาจแต่เพียงผู้เดียว แต่ “ปีศาจ” เป็นแนวความคิดของคนหัวสมัยใหม่ที่มีค่านิยมขัดแย้งกับความคิดแบบเก่าโดยสิ้นเชิง โดยพยายามบ่อนทำลายและสั่นคลอนแนวความคิดเก่าลงไปทีละน้อยๆ “ปีศาจ” เหล่านี้ แฝงอยู่ในระบบความคิดและจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคม ประเด็นในสังคมเรื่องชนชั้นจะต้องถูกกำจัดลงไป รวมถึงการประเมินคุณค่าของคนคนหนึ่งด้วยชาติกำเนิดด้วย
อย่างไรก็ดี คนในปัจจุบัน เมื่อได้อ่าน “ปีศาจ”ก็เกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับสาย สีมา ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่เหมือนกัน น่าสังเกตว่า ความเป็น “ปีศาจ” ในสมัยที่เสนีย์ เสาวพงศ์ ประพันธ์นวนิยายเรื่องนี้กับในสมัยปัจจุบันกลับมีความแตกต่างกันบางประการ กล่าวคือเรื่องชนชั้นสูงกับชนชั้นกลางในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาเปรียบเทียบและข่มกันอีกต่อไป เพราะการศึกษาและสติปัญญาได้พัฒนาชนชั้นกลางให้
ทัดเทียมหรือเหนือกว่าชนชั้นสูงไปแล้ว นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ปีศาจ” ไม่ตกยุคตกสมัย ผู้อ่านสามารถอ่านแล้วเข้าใจความรู้สึกของตัวละครได้อย่างชัดเจน คือ การมีอยู่ของ “ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้” และ “ปัญหาระหว่างชนชั้นกรรมาชีพกับชนชั้นกลางและชนชั้นสูง” ดังนั้น “ปีศาจ” ในบริบทปัจจุบันจึงไม่ใช่ “แนวคิดของชนชั้นกลางผู้พยายามก้าวข้ามความคิดแบบเก่าของชนชั้นสูง” อีกต่อไป แต่เป็น “แนวคิดของชนชั้นเบื้องล่างผู้พยายามเรียกร้องความเสมอภาคและเท่าเทียมที่แท้จริงให้เกิดขึ้นในสังคม”
“ปีศาจ” ที่กาลเวลาได้สร้างขึ้น ณ ปัจจุบันนี้ จึงไม่ใช่ปีศาจที่อยู่ในตัวของสาย สีมาและตัวละครรุ่นใหม่ในเรื่องอีกต่อไป แต่เป็น “ปีศาจ” ตัวใหม่ที่ในอนาคตข้างหน้าอาจถูกกาลเวลาเปลี่ยนแปลงและสร้างปีศาจตัวอื่นๆออกมาอีก ตราบเท่าที่สังคมยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ความเสมอภาคและเท่าเทียม” เกิดขึ้น
…และดูท่าว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างยากลำบากเสียเหลือเกิน…