เอาเป็นว่าถ้าใครสามารถตามหามาอ่านได้หมด (หรือเกือบหมด) ทั้งลิสต์ของเราแล้วล่ะก็ น่าจะได้เห็นภาพอันแจ่มชัดของ ‘เรื่องสั้นไทยร่วมสมัย’ ที่เราคิดว่ากำลังน่าตื่นเต้นไม่ใช่น้อยเลยล่ะ
’24 ชั่วโมง’ โดย แพรพลอย วนัช (สำนักพิมพ์นาคร)
รวมเรื่องสั้นเล่มแรกของนักเขียนหญิงหน้าใหม่มาแรง เจ้าของนิยายรางวัลแว่นแก้ว (รองชนะเลิศอันดับ 1) จาก ‘อุโมงค์ดอกไม้’ และรางวัลกนกพงศ์ สงสัมพันธุ์ (รองชนะเลิศ) จากเรื่องสั้นชื่อ ‘พิซซ่า’ ซึ่งมีรวมอยู่ในเล่มนี้ด้วย เรื่องสั้นของ แพรพลอย วนัช วางตัวเองอยู่ระหว่างความใหม่กับความเก่าอย่างลงตัว คือเธอบอกเล่าเรื่องแบบที่มีพล็อตแข็งแรง มีตอนจบที่ชัดเจน และหลายครั้งยังหักมุมได้อย่างน่าตื่นตะลึง แต่ความใหม่ของเธอคือการเล่าเรื่องของคนในสังคมร่วมสมัยที่เราพบเห็นได้ทั่วไปและรู้สึกใกล้ชิดอย่างยิ่ง อย่างเรื่อง ‘แชนเดอเลียร์’ ที่เล่าเรื่องรสนิยมของปัจเจกได้อย่างน่าสนใจ เรื่องเด่นเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรพลาดคือ ‘ตุ๊กแก’ ซึ่งจับประเด็นแรงๆ อย่างการล่วงละเมิดทางเพศในครอบครัวมาเล่าได้มีชั้นเชิง หนังสือเล่มนี้ยังมีดีกรีรางวัลหนังสือดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปี 2563 และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทเรื่องสั้น เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 17 เป็นประกันอีกด้วย
‘2601 ความตายเป็นเพียงแค่ความฝัน’ โดย ละเวง ปัญจสุนทร (สำนักพิมพ์โล้พระจันทร์)
ละเวง ปัญจสุนทร เป็นชื่อที่คุ้นเคยในแวดวงในฐานะนักเขียนมือรางวัลอีกคน งานที่โดดเด่นของเขาคือเรื่องสั้น ‘ความตายเป็นเพียงแค่ความฝัน’ ได้ประดับช่อการะเกดยอดเยี่ยมจากบรรณาธิการในตำนาน สุชาติ สวัสดิ์ศรี มาแล้ว (ซึ่งเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็มารวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ด้วย) หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมผลงานคัดสรรจากชีวิตการเขียนเรื่องสั้นร่วม 20 ปีของเขา หลายเรื่องเคยผ่านการตีพิมพ์ในช่อการะเกด-นิตยสารเรื่องสั้นสุดเข้มข้น บางเรื่องให้บรรยากาศแบบไซไฟ และบางเรื่องเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ชวนตีความ มีทั้งแบบสมจริงและเหนือจริง มีประเด็นเรื่องการเมืองผสมอยู่กับเรื่องสังคมและการค้นหาผ่านมุมมองของปัจเจก เป็นงานรวมเรื่องสั้นที่ท้าทายนักอ่านด้วยลีลาและรูปแบบอันหลากหลายเล่มหนึ่ง ที่น่ารักก็คือละเวงลงมือวาดภาพประกอบด้วยตัวเองเสียด้วย หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการงานแห่งความรักของนักเขียนหนุ่มคนหนึ่งอย่างแท้จริง
‘Fuel Romance เชื้อเพลิงโรมานซ์เว่อร์’ โดย อุเทน มหามิตร (สำนักพิมพ์ P.S.)
อุเทน มหามิตร คือกวีหนุ่มผู้มุ่งมั่นกับงานวรรณกรรมจนมีรางวัลศิลปาธรประจำปี 2563 เป็นตรารับประกัน แม้งานเล่มนี้ของอุเทนจะเข้าข่ายเรื่องสั้น-สั้นมากกว่ากวี แต่ภาษาและพล็อตสั้นๆ อันแปลกประหลาดและชวนสะใจ อ่านสนุก ก็ยังให้อารมณ์ของกวีร่วมสมัยอยู่ไม่น้อย อย่างที่อุเทนเขียนอธิบายงานชุดนี้ว่าเป็น ‘อักขระแต่งกลิ่นที่อาศัยอยู่ที่นี่ แอนตี้พล็อตทับศัพท์แทรกแซง เป็นตัวจับโกหกมโนทัศน์ ซึ่งครอบงำทุกซีซั่น และแทรกสลายสเปซจองจำ’ นี่คืองานเขียนที่แก้ความเบื่อหน่ายได้ชะงัด และเปิดประสบการณ์ผู้อ่านว่าเพียงเรื่องสั้นแสนสั้นนั้นสามารถพาอารมณ์ของเรากระโดดกระเด้งขึ้นลงและเหวี่ยงไปมาได้ขนาดไหน อ้อ! ภาพประกอบที่อุเทนออกแบบเองยังเข้ากันดีกับสำเนียงในตัวอักษรของเขาจริงๆ
‘เป็นอื่นไป’ โดย จรณ์ ยวนเจริญ (สำนักพิมพ์ P.S.)
จรณ์ ยวนเจริญ นักเขียนหน้าใหม่เปิดเล่มด้วยเรื่องสั้น 4 เรื่องที่อลังการงานสร้างสุดๆ คือ ‘ชิ้นส่วนแยกขาดไม่ประกอบคืน’ เรื่องของฝาแฝดที่มีความหลังแหว่งวิ่น, ‘ปรารถนาเป็นเพียงชื่อคน’ เรื่องของความสัมพันธ์ซับซ้อนของตัวละครที่หวาดกลัวความสัมพันธ์, ‘ห้องเช่าคนตาย’ เรื่องของผู้คนหลากหลายที่ใช้ชีวิต-และไม่ใช้ชีวิตอยู่ในตึกให้เช่าเก่าโทรม และ ‘ศูนย์-หนึ่ง’ เรื่องรักครั้งแรกของเด็กหนุ่มสองคนที่สานสัมพันธ์กันด้วยบทเพลงโฟล์กยุค 70 แล้วหลังจากนั้น เรื่องสั้นเรื่องหลังๆ ของจรณ์ก็เริ่มดาร์กและหดหู่ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เป็นหนังสือที่สร้างอารมณ์ในการอ่านเหมือนกับการได้พบเจอคนที่บุคลิกจัดจ้าน แต่ยิ่งรู้จักกันก็ยิ่งเผยมุมมืดในจิตใจให้ได้พิศวง จุดเด่นอีกอย่างในงานของจรณ์คือสำนวนที่ทำให้นึกถึง วีรพร นิติประภา หรือ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา แต่มีเรื่องราวและตัวละครที่ดิบห่ามกว่า เศร้าสร้อยกว่า ถือเป็นหนังสือที่ทำให้เราต้องจดจำชื่อนักเขียนที่แปลกๆ ที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว-เหมือนงานเขียนของเขา เอาไว้ไม่ลืมเลือน
‘กวีพูด’ โดย ฟ้า พูลวรลักษณ์ (สำนักพิมพ์ สมมติ)
การคาดเดางานเขียนเล่มใหม่ๆ ของ ฟ้า พูลวรลักษณ์ ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเสมอ เขาเคยทำให้แคนโต้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เคยพาเราไปนั่งสงบเสงี่ยมครุ่นคิดอยู่ใน ‘ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก’ กับ ‘โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก’ แล้วยังเคยสร้างโลกนิยายกำลังภายในของตัวเองที่ทั้งนิ่งสงบและซ่อนคมปรัชญาใน ’60 เรื่องสั้นกำลังภายในของฟ้า’ มาแล้ว สำหรับ ‘กวีพูด’ เป็นการรวม 10 เรื่องสั้นที่อธิบายยากไม่ใช่เล่น เอาเป็นว่าส่วนหนึ่งมันเป็นแนวไซไฟ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นรูปแบบที่เขาเลือกใช้เพื่อเสนอแนะทางออกของโลกในปัจจุบันในฐานะนักคิดคนหนึ่งมากกว่า ทำให้เราได้อ่านเรื่อง ‘สิทธิแห่งการมีชีวิต’ ที่เล่าถึงโลกในอนาคตที่โลกต้องจำกัดจำนวนประชากร หรือเรื่อง ‘สงครามจักรวาล’ ที่เล่าถึงการบุกรุกของมนุษย์ต่างดาวในสายตากวีของฟ้า และยังมี ‘ผู้หญิงคือดวงอาทิตย์ โสเภณีคือดวงจันทร์’ ที่นำเสนอการแก้ปัญหาโสเภณีด้วยกลวิธีเล่าเรื่องแบบโต้วาที! รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ยังมีเรื่องสั้นที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์กวีอยู่หลายเรื่องเช่นกัน ที่แน่นอนอย่างยิ่งก็คือเรื่อง ‘กวีพูด’ ที่ว่าด้วยเรื่องสถานการณ์และสภาวะของกวีด้วยวิธีนำเสนอแบบการเสวนาเลยทีเดียว