วิจารณ์วรรณกรรมเรื่องสั้น

วิจารณ์วรรณกรรมเรื่องสั้น หญิงคนชั่ว ความชั่วที่เลี้ยงความดี

ความชั่ว ถ้ายังไม่มีผู้รู้เห็นก็ยังคงเป็นความดี  แต่ในโลกนี้จะมีสักกี่คนเล่าที่เชื่อ ความดีนั้น ย่อมมีอยู่แม้ในหมู่ของหญิงที่ได้ชื่อว่า โสเภณี

ปัจจุบันโสเภณีเป็นหนึ่งในปัญหาสังคม ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม โดยคนทั่วไปไม่อาจยอมรับได้ เกิดทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับบุคคลที่ประกอบอาชีพโสเภณียังคงฝังลึกในใจของคนส่วนใหญ่ในสังคมปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการกดขี่ ทำลายศักดิ์ศรีของมนุษย์เพศหญิง ถูกสังคมประณามว่าเป็นผู้กระทำผิดอยู่ตลอดเวลา แต่หารู้ไม่ว่าภูมิหลังของการมาเป็นหญิงค้าประเวณีของเขาเหล่านั้นมาจากสาเหตุใด ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงภาพโสเภณีให้มีที่ยืนในสังคมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งค่อยๆถูกผลักดันขึ้น โดยได้เข้ามามีบทบาทในวงการนักเขียนวรรณกรรมและปรากฏอยู่ทุกหนแห่งในสังคม จากภาพของหญิงคนชั่วที่ถูกประณาม และถูกสังคมรังเกียจ อาจเป็นผู้ที่มีจิตใจงดงามแฝงไว้ภายใน เป็นการบ่งบอกถึงทัศนคติที่เปลี่ยนไปของผู้เขียน ทำให้ผู้อ่านมองหญิงคนชั่วเหล่านี้อย่างเข้าใจมากขึ้น

หากกล่าวถึงวรรณกรรมที่อ่านแล้วทำให้ผู้อ่านมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นต่อหญิงค้าประเวณีหรือที่เรียกกันติดปากว่า โสเภณี คงต้องยกให้วรรณกรรมเรื่อง “หญิงคนชั่ว” เป็นผลงานของ กัณหา เคียงศิริ หรือมีนามปากกาว่า ก.สุรางคนางค์ นักเขียนหญิงที่มีชื่อเสียงของไทย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปีพ.ศ. ๒๕๒๙  ก.สุรางคนางค์ ชอบการประพันธ์ตั้งแต่อยู่ ม.๖ เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก ชื่อ “มาลินี” โดยใช้นามปากกาจากชื่อย่อตามด้วยคำประพันธ์ที่ชอบ เกิดเป็นนามปากกา “ก.สุรางคนางค์” ลงในเดลิเมล์วันจันทร์ นวนิยายเรื่องแรก คือ “กรองกาญจน์” โด่งดังในหมู่นักอ่านด้วยเรื่อง “หญิงคนชั่ว” ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ แต่อีก ๑๘ ปีต่อมา นวนิยายเรื่องนี้ก็มีผู้นำไปดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์  หากนับเนื่องเวลามาจนถึงวันนี้ วันที่สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ได้จัดพิมพ์ก็เป็นเวลาถึง ๘๓ ปี ผลงานของท่านมีมากมายเป็นที่ประจักษ์ ด้วยการใช้ภาษาที่งดงามและเข้าใจง่าย เขียนในแนวสัจนิยมยึดถือความสมจริงเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งสะท้อนสภาพชีวิตของคนในสังคมขณะนั้นได้เป็นอย่างดี จนทำให้นักอ่านหลายคนติดใจในเนื้อหาและภาษาที่ถ่ายทอดออกมาในฉบับที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของนักเขียนผู้นี้

การที่นักเขียนสตรี เขียนเรื่องราวความดีของหญิงโสเภณี และเหตุการณ์ใน “ซ่อง” เป็นการนำเสนอที่ไม่เพียง “ผ่าเหล่าความคิดเท่านั้น” จะต้องเป็นผู้กล้าหาญ กล้าคิดด้วย แต่จะมีผู้อ่านคนใดปฏิเสธสัจจะแห่งชีวิตที่เธอได้บันทึกไว้  โดยเฉพาะชีวิตของ “หญิงคนชั่ว”  แม้เวลาและสังคมจะเปลี่ยนแปลงไป แต่เส้นทางเดินของหญิงคนชั่วแต่ละคนกลับมีหนทางเดียว เป็นทางอัปยศ ถูกเหยียบย่ำ ข่มเหงรังแก ถูกสังคมตราหน้า และในบั้นปลายย่อมไม่สามารถใช้ชีวิตปกติมีครอบครัวเหมือนผู้อื่นได้

“หญิงคนชั่ว” เป็นเรื่องราวของ รื่น ชีวิตหญิงสาวที่ไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของมนุษย์ เดิมเธอชื่อหวานเป็นสาวบ้านนอกที่โดนวิชัย หนุ่มเมืองกรุงหลอกให้มากรุงเทพโดยใช้ความรักเข้ามาเป็นกลลวง แล้วนำเธอมาทิ้งไว้ในซ่องของป้าตาด วิชัยปอกลอกหวานจนหมดตัวแล้วก็หายไป หวานจึงจำต้องขายบริการเพราะไม่มีทางเลือก หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็นรื่นและกลายเป็น “หญิงคนชั่ว” อย่างไม่เต็มใจ จนกระทั้งเธอได้มาพบชายหนุ่มที่เพียบพร้อม คือวิทย์ ชายที่ทำให้เธอรู้จักกับความรักอีกครั้ง รื่นเริ่มฝันถึงการเริ่มต้นใหม่ การได้ใช้ชีวิตร่วมกับวิทย์ฉันสามีภรรยา แต่นอกจากความรักแล้วรื่นคิดมาตลอดว่า เธอไม่มีสิ่งใดคู่ควรกับวิทย์ ทั้งยังเป็นหญิงคนชั่ว ที่ไม่มีใครต้องการเป็นลูกสะใภ้ รื่นมองเห็นเกียรติยศของชายที่เธอรักสำคัญกว่าความสุขของตัวเอง สิ่งที่เธอมอบให้วิทย์ ไม่ใช่เพียงความรักแต่เป็นความภักดี ต่อมารื่นก็ได้ตั้งท้องกับวิทย์ชายที่เธอรัก แต่ก่อนที่รื่นจะมีโอกาสบอกวิทย์เรื่องลูก วิทย์ก็ได้หายไป โดยทิ้งสร้อยไว้ให้ดูต่างหน้า  ในขณะที่ตั้งท้องอยู่นั้นรื่นได้หนีออกจากบ้านป้าตาดโดยความช่วยเหลือของ สมร เพื่อนโสเภณีที่อายุมากกว่าคนหนึ่ง สมรฝากให้รื่นทำงานเป็นคนใช้ที่บ้านของคุณหลวงท่านหนึ่ง แต่รื่นก็อยู่ที่นั่นได้ไม่นานเพราะคนที่เคยเป็นแขกของซ่องป้าตาดไปเห็นเข้า รื่นย้ายไปเป็นคนใช้ของหญิงหากินชื่อเกษร ต่อมารื่นก็ได้คลอดลูก เป็นการคลอดแบบอนาถา ไร้ญาติพี่น้อง โดยมีเพียงแค่สมรคนเดียวที่มาเยี่ยม และทั้งคู่ก็ตัดสินใจไปเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน สมรประกอบอาชีพขายบริการเหมือนเดิมเพื่อหาเงินมาเป็นค่าเช่าห้องพักและเลี้ยงดูรื่นกับลูก ต่อมาสมรไม่สบายและได้เสียชีวิตลง ทำให้รื่นต้องออกหากินแทนเพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูก โดยเอาลูกไปฝากไว้กับสามีภรรยาคู่หนึ่งที่อยู่ข้างห้องเช่า ทั้งๆ ที่รู้ว่าลูกถูกเลี้ยงแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ถูกเอาเปรียบเป็นประจำ แต่เธอก็ทำอะไรไม่ได้ จากการทำงานหนักเพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูก ทำให้เธอป่วยและมีสภาพร่างกายที่ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ เธอปรารถนาเพียงแค่พบวิทย์ชายที่เธอรักเพื่อที่เธอจะได้ฝากลูกให้เลี้ยงต่อก่อนเธอตาย ต่อมาชะตาก็ได้เข้าข้างรื่น เธอได้พบวิทย์อีกครั้งแต่การพบครั้งนี้คือ วิทย์ไม่เหมือนคนรักเก่าที่เธอเคยเจอ เขาได้แต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว แต่รื่นก็ได้ตัดสินใจบอกความจริงกับวิทย์เรื่องลูกของเขา วิทย์จึงรับลูกไปอยู่ด้วยตามเจตนารมณ์ที่รื่นได้ตั้งใจไว้ หลังจากที่วิทย์ได้รับลูกไป รื่นก็ได้จากโลกนี้ไปในขณะเดียวกัน

หญิงคนชั่ว เป็นนวนิยายที่สะท้อนให้เห็นค่านิยมของคนในสมัยนั้น  ที่มีทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับหญิงโสเภณีมองว่าเป็นหญิงชนชั้นต่ำ เป็นที่น่ารังเกียจ ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย โดยการเหมารวมว่าหญิงเหล่านี้เป็นหญิงคนชั่ว ผู้เขียนเปิดเรื่องได้น่าสนใจด้วยการใช้บทสนทนาของเพื่อนร่วมการเดินทางสองคนบนรถไฟ นำเสนอตัวละครซึ่งมีส่วนสำคัญในการดำเนินเรื่องคือวิทย์ ซึ่งเป็นน้องชายของภรรยามากล่าวขวัญกันอย่างสนุกสนานเพื่อบรรเทาเหงา จนนำมาสู่เรื่องราวของหญิงคนชั่ว คือ “รื่น” ผู้แต่งได้ดำเนินเรื่องโดยการตัดภาพมาบรรยายตัวละครที่กำลังถูกกล่าวขวัญ จนนำไปสู่สาเหตุปมปัญหาที่เกิดขึ้น ความรักระหว่างรื่นกับวิทย์ที่ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะขึ้นชื่อว่าหญิงโสเภณี ไม่มีใครอยากจะนำมาเป็นลูกสะใภ้ รื่นมองเห็นเกียรติยศของชายที่เธอรักสำคัญกว่าความสุขของตัวเองจึงเกิดความเจียมตัว จนนำมาสู่การพลัดพรากจากกัน ทำให้เรื่องราวน่าสนใจ ไม่มีเบื่อและผู้อ่านอยากติดตาม การต่อสู้ดิ้นรนของหญิงโสเภณีจนนำมาถึงจุดสุดยอดของเรื่อง คือ ชีวิตที่ตกอับของรื่น การใช้ชีวิตที่เสมือนคนไร้วิญญาณ ร่างกายทรุดโทรมไม่ต่างจากศพ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูกซึ่งเป็นตัวแทนของความรักที่รื่นมีต่อวิทย์ ซึ่งหญิงคนชั่วเช่นรื่น ยอมใช้เลือดทุกหยดในร่างที่ถูกประณามว่าชั่ว เพื่อหล่อเลี้ยงความดีเลี้ยงดูเลือดเนื้อที่เกิดจากคนดีเช่นวิทย์ โดยผู้เขียนสามารถดึงอารมณ์ผู้อ่านให้คล้อยตามไปกับความรู้สึกของตัวละครได้ตลอดทั้งเรื่อง ผู้แต่งได้คลายปมปัญหาก่อนปิดเรื่องก็คือ รื่นได้บอกความจริงให้วิทย์รู้เรื่องลูก และวิทย์ยอมรับแล้วรับลูกไปเลี้ยงดูต่อจากรื่น ผู้แต่งปิดเรื่องด้วยการตายของรื่นที่ผู้คนต่างตราหน้าว่าเป็นหญิงคนชั่ว เป็นการปิดเรื่องแบบโศกนาฏกรรมความขัดแย้งอื่น เช่นความขัดแย้งระหว่าง มนุษย์กับมนุษย์ ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างวิชัยกับรื่น ความขัดแย้งระหว่างรื่นกับป้าตาดเจ้าของซ่อง ความขัดแย้งกับแม่เผือดผู้ที่รื่นจ้างเลี้ยงลูกให้ และความขัดแย้งภายในจิตใจมนุษย ได้แก่ ในตอนที่รื่นจะต้องตัดสินใจให้ลูกไปอยู่กับวิทย์พ่อแท้ๆ หรือตนจะเลี้ยงเอง แต่ถ้าหากเลี้ยงเอง รื่นก็ไม่สามารถเลี้ยงได้ด้วยกำลังที่ทรุดโทรมและไม่อยากให้ลูกแปะเปื้อนความชั่วที่ตนถูกประณาม ความขัดแย้งเหล่านี้ เป็นเพียงจุดเล็กน้อยที่เสริมเรื่อง ทำให้ผู้อ่านเข้าใจรื่น ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “หญิงคนชั่ว” ได้มากขึ้น

ส่วนในเรื่องแนวคิดสำคัญนั้น “หญิงคนชั่ว” ได้นำเสนอแนวคิดเรื่องของการอย่าตีคุณค่าของคนหรือตัดสินคนอื่นที่ภายนอก เพียงเพราะการประกอบอาชีพหรือลักษณะการเป็นอยู่ บางคนอาจได้ชื่อว่าเป็นหญิงชั้นต่ำแต่จิตใจของคนเหล่านั้นอาจงดงามและสูงกว่าบุคคลที่มีชนชั้นสูงก็เป็นได้  เช่นเดียวกับนวนิยายในเรื่อง “หญิงคนชั่ว” นั้น ทำให้เห็นชีวิตของหญิงโสเภณีที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอด บนเส้นทางที่ไม่มี “ทางเลือก” สายอื่นให้เดิน หญิงคนชั่วหลายคนจำต้องเดินบนถนนคนชั่ว บนเส้นทางสายบาปต่อไปอย่างขมขื่น ถ้าหากมองลึกลงไปในหัวใจของหญิงคนชั่ว เช่นรื่น ถึงแม้กาลเวลาจะหมุนเวียนอีกกี่หน ความชั่วที่หล่อเลี้ยงความดี จะยังอยู่เสมอ รักแท้จากหัวใจอันซื่อตรง ใต้ร่างอันทรุดโทรม น่ารังเกียจ จะยังคงมีความดี ความรัก และความเป็นแม่ที่ยอมเสียสละทั้งชีวิตเพื่อลูกของเธอซึ่งเป็นตัวแทนของความรักที่เธอมีต่อวิทย์

นวนิยายเรื่อง หญิงคนชั่ว มีตัวละคนสำคัญหลายตัวที่ใช้ในการดำเนินเรื่อง ตัวละครตัวแรกซึ่งเป็นตัวเอกที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่องคือ รื่น หญิงโสเภณี ที่ต่างถูกประณามว่าเป็นหญิงคนชั่ว รื่นจัดเป็นตัวละครแบบกลมหรือตัวละครประเภทหลายลักษณะ เนื่องจากผู้แต่งเสนอทั้งด้านดีและไม่ดีของตัวละครไว้เช่น ด้านที่ไม่ดีคือ รื่นหนีออกจากบ้านเพื่อมาอยู่กรุงเทพกับวิชัยและได้ขโมยทรัพย์สินของมีค่าของแม่มาด้วย ในทางด้านดี รื่นเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความขัดแย้งกับใคร และถึงแม้ว่าเธอจะถูกประณามว่าเป็นหญิงชั่ว แต่เธอก็สามารถเป็นแม่ที่ดีของลูกได้ และเธอก็เป็นหญิงที่มีความซื่อสัตย์ต่อความรัก สังเกตได้จากเมื่อเธอได้รักกับวิทย์แล้ว เธอก็ปฏิเสธการขายบริการกับชายอื่นมาโดยตลอด ตัวละครต่อมาคือ วิทย์ จัดเป็นตัวละครประเภทหลายลักษณะเช่นกัน เพราะมีลักษณะและความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เช่น ในขณะที่เขายังหนุ่มเขาได้ตกหลุมรักรื่นและสัญญาจะพารื่นไปเลี้ยงดู เป็นคนที่ให้เกียรติผู้อื่นแม้กระทั่งโสเภณีเช่นรื่น แต่เมื่อเขาได้รับการศึกษา ความคิดของเขาก็เปลี่ยนไป เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ได้ไปแต่งงานมีครอบครัวกับคนที่สมฐานะ แต่เมื่อรู้ความจริงเรื่องลูก เขาก็ยังคงรู้สึกผิดต่อรื่นพยายามหาบ้านให้รื่นอยู่และรับลูกไปอยู่ด้วย ตัวละครอื่นๆที่นำมาเสริมในการดำเนินเรื่องและมีบทบาทสำคัญเช่นกันคือ สมร ป้าเผือด ลุงกลิ่น ป้าตาด จัดเป็นตัวละครประเภทน้อยลักษณะ เพราะมีลักษณะนิสัยในทางด้านเดียว ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์

ฉากและบรรยากาศของนวนิยายเรื่องนี้ ถือเป็นจุดเด่นและเป็นเสน่ห์ของเรื่องก็ว่าได้ ผู้แต่งมีการพรรณนาฉากได้สมจริง ทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพได้ชัดเจนและสามารถจินตนาการตามได้ เช่น การพรรณนาลักษณะของ ซ่อง โสเภณี พรรณนาถึงสถานีรถไฟ รวมไปถึงการพรรณนาหมู่บ้านที่เป็นชนบทหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบ้านนอก เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวมีอยู่จริงในประเทศไทย ผู้อ่านบางคนเคยประสบพบเจอ ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจและตีความได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องของบรรยากาศ ในเรื่องมีความสอดคล้องกับฉาก เช่น ฉากทำบุญตักบาตรที่วัด ในประเพณีวันสงกรานต์ ผู้แต่งได้บรรยายลักษณะของผู้คนที่ชุลมุนวุ่นวาย เบียดเสียดกัน ประสานกับเสียงพระสวดมนต์ อีกทั้งผู้คนตะโกนเรียกกันอึงคะนึง ทำให้รู้สึกได้ถึงความแออัดใน ขณะนั้น ผู้แต่งใช้กลวิธีการนำเสนอฉากกับบรรยายกาศ โดยการใช้การบรรยายรวมถึงบทสนทนาของตัวละคร ทำให้ผู้อ่านเข้าใจ ทำให้เรื่องราวที่มีความสมจริงมากยิ่งขึ้น  หากพิจารณานวนิยายเรื่องหญิงคนชั่วนั้น มีความเป็นเอกภาพเพราะโครงเรื่อง ตัวละคร ฉากบรรยากาศและชื่อเรื่องมีความสัมพันธ์กัน 

ลักษณะเด่นของนิยายเรื่องนี้ น่าจะเป็นเรื่องของภาษา ผู้เขียนใช้ภาษาที่สละสลวย ประณีต เลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม เป็นภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที ไม่ต้องตีความให้ยุ่งยาก เพราะผู้แต่งใช้สำนวนการพูดของตัวละครเหมือนสำนวนของคนปกติที่นิยมใช้กัน และกลวิธีการเขียนจะใช้บทสนทนาเป็นการดำเนินเรื่อง ทำให้ผู้อ่านนั้นเข้าใจอารมณ์และลักษณะของตัวละครได้เด่นชัดขึ้น ด้วยลีลาการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถดึงดูดผู้อ่านได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ลักษณะการเล่าเรื่องโดยการใช้บทสนทนานี้ มีการสอดแทรกข้อคิดให้ผู้อ่านได้คิดตามตลอดทั้งเรื่อง เช่น

“ ใครเป็นคนผิด? ใครเป็นคนถูก ? ผู้ใหญ่ที่สั่งสอนลูกหลานไม่ให้ทำความชั่ว แต่ตัวเป็นเสียเองดังนี้ สภาพกการปกครองทางบ้านจะเป็นอย่างไร” ( หน้า ๒๐๔ )  หรือ “ เราเป็นหญิงคนชั่ว ใครๆก็รังเกียจสะอิดสะเอียน สองผัวเมียนี่ก็เหมือนกัน เคยพูดจาเปรียบเทียบกระทบกระแทรกเราหลายหน ไม่อยากเอาใจใส่เสียเอง แต่ก็แปลกนะ ช่างไม่อายใจบ้างเลยที่โกงเงินค่านมวัวลูก ซึ่งเราหามาได้จากการทำชั่ว จากการกระทำสะอิดสะเอียนขยะแขยง เพื่อไปเลี้ยงชีวิตตัวเอง

          ฮึ! ความชั่วที่ต้องเลี้ยงความดี” (หน้า ๑๘๙)

ส่วนข้อบกพร่องนั้นอาจไม่มากนัก เพียงแต่ผู้เขียนใช้บทสนทนาของตัวละครได้เยิ่นเย้อ ในบางช่วงบางตอน อาจทำให้อรรถรสลดน้อยลงไป ทั้งยังทำให้ผู้อ่านเกิดความเบื่อหน่ายในบางตอน เช่นตอนที่รื่น กล่าวถึงคนรัก กล่าวถึงลูก หรือบทสนทนาที่รื่นคุยกับวิทย์ เป็นบทสนทนาที่ยาวและเป็นการพรรณนาถึงความรักมากเกินไป จนบางครั้งทำให้ผู้อ่านเกิดความ แต่นี่ก็เป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่เนื้อหาและองค์ประกอบสามารถกลมกลืนข้อบกพร่องนั้นได้

หลายท่านอาจเคยอ่านนวนิยายมาหลายเรื่อง หลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละเรื่องจะมีจุดเด่นแตกต่างกันออกไปที่สามารถดึงดูดหรือความสนใจให้ผู้อ่านประทับใจและอยากติดตาม  นวนิยายเรื่อง “ หญิงคนชั่ว” ก็เป็นนวนิยายอีกเรื่อง ที่สามารถทำให้ผู้อ่าน ได้แง่คิดและมุมมองชีวิตที่หลากหลาย สะท้อนสังคมในมุมต่างๆ โดยเฉพาะ สังคมของหญิงชั้นต่ำที่ถูกประณามว่าเป็น หญิงคนชั่ว เป็นที่รังเกียจของคนในสังคม ถูกมองว่าเป็นหญิงที่ปราศจากความดี แต่นวนิยายเรื่องนี้ จะทำให้ผู้อ่านมีทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เข้าใจหญิงโสเภณีเหล่านี้มากขึ้น ดังคำกล่าวข้างต้นที่ว่า “หญิงชั้นสูงอาจมีจิตใจต่ำ เช่นเดียวกับหญิงชั้นต่ำที่มีจิตใจสูง”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *