เล่าเรื่อง “เลือดข้น คนจาง” ฉบับนวนิยาย

เล่าเรื่อง "เลือดข้น คนจาง" ฉบับนวนิยาย

“เลือดข้น คนจาง” ของฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ เป็นนวนิยายที่ประพันธ์ขึ้น หลังจากสร้างเป็นบทโทรทัศน์ออกอากาศทางช่องวัน 31 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 เมื่อละครอวสานจึงได้นำเรื่องราวมาประพันธ์มารวมเล่มในรูปแบบนวนิยาย ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2562 ที่น่าสนใจคือในการตีพิมพ์เป็นเล่มนวนิยาย ได้รับกระแสตอบรับจากผู้อ่านจำนวนมาก จนกระทั่งต้องตีพิมพ์ซ้ำในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน คือ ตีพิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนเมษายน 2562
ปกจริงอยู่นะคะที่ว่านวนิยายของไทยหลาย ๆ เรื่องถูกดัดแปลงเป็นบทละครโทรทัศน์ แต่น้อยมากที่จะทำเป็นบทโทรทัศน์ก่อนแล้วจึงนำมาปรับให้เป็นรูปแบบของนวนิยาย อาจจะเพราะเรตติ้งในช่วงเวลาที่ละครออนแอร์ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ชมจำนวนมาก มากซะจนกระทั่งในช่วงเวลานั้นเกิดปรากฏการณ์ แฮชแท็ก #ใครฆ่าประเสริฐ ติดอันดับยอดนิยมทั้งในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ดังนั้น “เลือดข้นคนจาง” แทบจะเรียกได้ว่า ‘แหวกขนบ’ ของการประพันธ์เลยทีเดียว

Advertisement

บทความนี้เราจะมาเล่าเรื่อง “เลือดข้น คนจาง” ในรูปแบบนวนิยายนะคะ เริ่มที่วาทะเปิดเรื่อง …

“ไม่มีใครทำเราเจ็บปวดได้เท่าเราทำกันเอง”

(No one can hurt us as bad as we do.)

เลือดข้น คนจาง เป็นเรื่องราวของครอบครัวคนจีนพลัดถิ่น คือ ตระกูลจิระอนันต์ อาม่าปรานี และอากงสุกิจ จิระอนันต์ เป็นคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ พวกเขาต่างเดินทางติดตามพ่อแม่เข้ามาตั้งหลักปักฐานในประเทศไทยตั้งแต่ยังเด็ก ทั้งคู่ได้พบรักและสร้างครอบครัวด้วยกัน ต่อมาจึงมีลูกชาย 3 คน คนโตชื่อ ประเสริฐ  เมธ กรกันต์ และลูกสาวอีก 1 คน คือ ภัสสร ด้วยความที่ปรานีและสุกิจเป็นคนจีนทั้งคู่ครอบครัวนี้จึงยึดแนวปฏิบัติแบบคนจีน คือ ทำธุรกิจทำรูปแบบ ‘กงสี’ ธุรกิจหลักของตระกูล คือ บริหารโรงแรมจิรานันตา ที่กรุงเทพ ฯ และพัทยา กิจการเจริญรุ่งเรืองจนทำให้มีฐานะร่ำรวย ผู้บริหารหลักของโรงแรมคือ ประเสริฐ ลูกชายคนโต และภัสสร ลูกสาวคนที่ 3

Advertisement

เมื่ออากงสุกิจเสียชีวิต เขาได้เขียนพินัยกรรมแบ่งสมบัติตามธรรมเนียมจีนให้กับภรรยาและลูก ๆ ทุกคน หากแต่ว่าภัสสร ลูกสาวผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการบริหารโรงแรมได้รับส่วนแบ่งเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับมรดกที่อากงมอบให้ลูกชาย คือ ลูกชายทุกคน ในจำนวน 3 คน ได้หุ้นส่วนโรงแรมคนละ 25% คิดเป็นเงินประมาณ 750 ล้าน หนำซ้ำ ‘พีท’ หลานชายคนโตของอากง ซึ่งเป็นลูกชายของประเสริฐ ก็ได้หุ้นส่วน 25% ของโรงแรมในฐานะ “ตั่วซุง” ตามธรรมเนียมจีน ที่มีแนวปฏิบัติว่าลูกชายของลูกชายคนโต มีศักดิ์เป็นลูกคนเล็กของพ่อ (อากง) ส่วนภัสสรได้ส่วนแบ่งเป็นเงินสดเพียง 200 ล้านเท่านั้น การแบ่งมรดกตามพินัยกรรมทำให้ภัสสรไม่พอใจมาก …

เวลาผ่านไปไม่นาน ภัสสรทะเลาะกับประเสริฐอย่างรุนแรง เพราะเธออยากเป็นเจ้าของและต้องการถือหุ้นของโรงแรมจิรานันตรา จากนั้นอยู่ ๆ ประเสริฐก็ถูกยิงเสียชีวิตในห้องนอน ที่บ้านของเขา

Advertisement

“เพื่อน ๆ คิดว่าใครฆ่าประเสริฐคะ ??” … พอเริ่มต้นมาแบบนี้เราก็ต้องตามหาคนร้ายใช่ไหมล่ะคะ … การตามหาคนร้าย ผู้ประพันธ์นำเสนอด้วยกลวิธีการเขียนแบบสืบสวนสอบสวน ชนิดที่ว่าเหมือนกับคนอ่านได้สอบสวนตัวละครแต่ละตัวด้วยตนเองเลยล่ะค่ะ จุดนี้นับว่าเป็นไฮไลต์ของการนำเสนอเรื่องได้เลย

เรื่องนี้เขียนเล่าแบบเมตาฟิกชั่น (Metafiction) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลวิธีการเล่าแบบ Postmodern ให้อารมณ์เหมือนกับว่าตัวละครคุยกับเรา และกระชากเราออกจากเรื่องราวเพื่อตอกย้ำว่า “อย่าอิน” เพราะคุณกำลังอ่านเรื่องแต่งอยู่นะ !! แบบนั้นเลยล่ะค่ะ  การใช้ภาษาก็เป็นแบบภาษาร่วมสมัย มีการสนทนาผ่าน line ผ่าน IG ทำให้เนื้อหาดูน่าติดตาม

อีกไฮไลต์หนึ่งในการประพันธ์ที่น่าสนใจก็คือ การที่ผู้แต่งเลือกใช้มุมมองการเล่าเรื่องแบบบุรุษที่ 1 คือ ใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า ‘ผม’ ‘ฉัน’ ‘หนู’ แล้วเวลาคุยกับผู้อ่าน ตัวละครในเรื่องเขาจะเรียกเราว่า ‘คุณ’ และเวลาที่เขาจะกล่าวถึงใครอีกคนที่อยู่นอกวงสนทนาของเรา (ตัวละครและผู้อ่าน) เขาจะใช้คำว่า ‘เธอ’ ‘เขา’ การเลือกใช้มุมมองการเล่าแบบนี้เปิดมิติการเล่าเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ เลยทีเดียว

สันการนำเสนอเรื่องราวในแต่ละบท จะเป็นการเล่าของตัวละครแต่ละตัว เช่น

บทที่ 1 “เราทำอะไรผิดหรือ” เป็นเรื่องเล่าของ ปรานี จิระอนันต์ เล่าปูพื้นครอบครัวจิระอนันต์ให้ผู้อ่านได้รู้จัก เช่น “ฉันชื่อปรานี จิระอนันต์ สามีฉันชื่อสุกิจ นามสกุลจิระอนันต์กลายเป็นชื่อซอยก็เพราะเราครอบครองที่ดินผืนใหญ่ที่สุดในซอย” บทนี้ทำให้เราเห็นภูมิหลังของตัวละคร เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสืบสวนสอบสวนในบทต่อ ๆ ไป

บทที่ 2 “ไม่มีความยุติธรรมไม่มีความสงบ”  เป็นการเล่าของภัสสรถึงความน้อยเนื้อต่ำใจที่เธอเกิดมาเป็นลูกสาวในครอบครัวคนจีน ทำให้เธอถูกละเลย เช่น บทสนทนาระหว่างภัสสรกับแม่ของเธอ ที่เธอเล่าให้ผู้อ่านฟังว่า … ฉันจ้องหน้าแม่ แม่ก็จ้องหน้าฉัน “ม้าจำได้มั้ย แต่ก่อนเวลาบ้านเรากินข้าวด้วยกัน ม้าจะคีบก้ามปูให้แต่อาเฮียสองคน ลูกสาวไม่เคยได้กินของดีหรอก…” ในที่สุดฉากชีวิตที่ฉันเก็บงำไว้ตลอดมาก็กระโจนใส่หน้าแม่ น้ำตาของฉันเริ่มไหล …

บทที่ 3 “ฉันแค่อยากฆ่าเขา” เป็นการเล่าของคริส ภรรยาของประเสริฐ เล่าเรื่องราวของเธอ หลังจากตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าฆ่าประเสริฐเพราะจับได้ว่าประเสริฐแอบจดทะเบียนสมรสกับนิภา ภรรยาอีกคนของเขา “ฉันพูดชัดเจนแล้วนะว่าฉันไม่ได้ฆ่าประเสริฐ และพีทก็เชื่อฉัน” คริสทิ้งคำพูดในตอนท้ายบทคำให้การของเธอไว้แบบนี้

การเล่าในแต่ละบทตัวละครทุกตัวออกมาปฏิเสธว่าตนไม่ได้เป็นคนฆ่าประเสริฐ หน้าที่ของผู้อ่านคือ “จับพิรุธ” และคาดเดาว่าใครกันที่ฆ่าประเสริฐ …

เรื่องนี้จบลงที่การเฉลยว่าคนร้ายที่ฆ่าประเสริฐ คือ เมธ น้องชายที่ประเสริฐรักและสนิทสนมที่สุด เมธเป็นคนที่ผู้อ่านมองข้ามตลอดเพราะไม่มีบทบาทอะไรมาก เป็นคนอ่อนไหว อมทุกข์ตั้งแต่ภรรยาเก่าของเขาเสียชีวิต เมธรักและเคารพประเสริฐมาก แต่เขาพลั้งมือฆ่าประเสริฐเพราะทราบความจริงจากภาพวาดในสมุดบันทึกของอากงว่าคริสภรรยาของประเสริฐเป็นผู้วางยาฆ่าภรรยาของเขาขณะที่ท้องแก่ เพราะคริสเป็นสะใภ้ใหญ่ และอยากมีลูกก่อนเพื่อให้ลูกของเธอได้เป็นหลานคนโต เพราะเธอรู้ว่าตามธรรมเนียมจีนหากเป็นลูกชายของลูกชายคนโตจะได้รับมรดกในฐานะลูกคนเล็กของอากง

ปกหลังเรื่องราวทั้งหมดในนวนิยายจบลงในบทที่ 30 “เพราะเราต้องไปต่อ” บทนี้เล่าโดยปรานี จิระอนันต์ ในเรื่องปรานีเป็นอาม่าผู้ยอมศิโรราบให้กับระบบคิดแบบปิตาธิปไตยที่ครอบงำสตรีจนไม่เหลือสิทธิใด ๆ บทสุดท้ายปิดฉากที่ทุกคนในครอบครัวจิระอนันต์ที่เหลืออยู่ มารวมตัวกันที่บ้านของอาม่า หลังจากตลอดช่วงเวลา 1 ปี นับจากการแบ่งมรดกตามพินัยกรรมของอากง เกิดเรื่องราวบาดหมางมากมายของคนในตระกูล แต่วันนี้ทุกคนต่างให้อภัยกัน พยายามทำความเข้าใจกัน อาม่าเปิดรับธรรมเนียมร่วมสมัยใหม่ ๆ ยอมรับและให้เกียรติลูกสาวมากขึ้น ดังข้อความตอนใกล้จบเรื่องว่า “ฉันมองภัสสรแล้วคิดได้ว่าอาหารมื้อนี้ยังไม่สมบูรณ์ ฉันจึงยื่นตะเกียบออกไปคีบกุ้งทอดในจานกลาง แล้ววางลงในชามข้าวของเธอ “กุ้งตัวนี้ ม้าให้อาสร ให้คนเดียว ไม่แบ่งใคร” นั่นฉันทำให้ลูกสาวของฉันยิ้มจนน้ำตารื้น แล้วฉันก็บอกเธอว่า “ม้าขอโทษ”… เรื่องราวดำเนินมาถึงตอนนี้ทุกคนต่างยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นและสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีใครพูดเรื่องความหลัง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างต้องดำเนินต่อไปตามวัฏจักรแห่งกาลเวลา ดังคำพูดที่ปรานี จิระอนันต์ได้ทิ้งท้ายไว้กับผู้อ่าน คือ  “ครอบครัวเราจะยังอยู่และเราจะเดินต่อไปแม้ว่ามันไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่ฉันฝันไว้”

“เลือดข้น คนจาง” ในแบบฉบับนวนิยายเป็นเรื่องหนึ่งที่เราอยากแนะนำให้อ่านนะคะ เพราะนอกจากเรื่องราวสนุก ๆ ที่นำเสนอในเนื้อหาแล้ว ยังมีการสอดแทรกธรรมเนียม ประเพณี ค่านิยม ระบบคิดต่าง ๆ รวมถึงข้อคิดต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดีด้วยค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *