ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ | วันพฤหัสที่ 5 มกราคม พ.ศ.2566 |
ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศพัฒนาไปเพียงใด แต่ความคิดความเชื่อของคนไทยจำนวนไม่น้อย ซึ่งก็รวมถึงของผู้ผลิตและใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย ยังคงยึดถือศรัทธาในเรื่องไสยศาสตร์อยู่มาก ลักษณะเช่นนี้อธิบายได้ว่าอย่างไร? คำถามที่น่าคิดตามมาคือ คนไทยคิดแบบวิทยาศาสตร์ไม่ได้หรือ? ชอบแต่จะเชื่อแบบไสยศาสตร์หรืออย่างไร?
พรวิภา วัฒรัชนากูล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ในฐานะผู้ศึกษาด้านวรรณคดี อธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ “ไสยศาสตร์จากมุมมองของนวนิยายไทยร่วมสมัย” (ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2551) เพื่อตอบคำถามข้างต้น โดยคัดย่อเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)
ที่มาและสถานะของไสยศาสตร์
ในบทความนี้ได้เลือกสุ่มตัวอย่างนวนิยายไทยร่วมสมัย จำนวน 14 เรื่อง [1] ที่พิมพ์เผยแพร่อยู่ในช่วงระหว่างปี 2530-46 มาเป็นกลุ่มข้อมูลการพิจารณา [2] เนื้อเรื่องของนวนิยายกลุ่มตัวอย่างได้เน้นเลือกเรื่องที่นำเสนอประเด็นเรื่องไสยศาสตร์ควบคู่กับเรื่องวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อต้องการเห็นการเปรียบเทียบความคิด หรือการให้เหตุผลเกี่ยวกับศาสตร์ทั้งสองนี้ที่โดยทั่วไปเห็นว่าตรงกันข้าม ว่าเป็นอย่างไร
จากนวนิยายกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ผู้แต่งนำเสนอว่าไสยศาสตร์เป็นความรู้เฉพาะที่คนพิเศษ คือผู้มีสถานะสูงเป็นผู้ปกครองเมืองหรือหัวหน้าวงศ์ตระกูล หรือเป็นคนวงใน (ลูก-หลาน) ของครอบครัวที่สืบทอดความรู้ไสยศาสตร์นั้นมาเท่านั้น จึงจะศึกษาเรียนรู้ได้ คนธรรมดาทั่วไปไม่มีสิทธิเข้าถึง
ความรู้ไสยศาสตร์ที่ปรากฏในนวนิยาย มักเป็นเรื่องพลังจิตพิเศษที่ใช้บังคับควบคุมวิญญาณ ความรู้สึกนึกคิดหรือการกระทำของผู้อื่นได้ หรือเป็นพลังพิเศษที่ใช้ฝืนกฎธรรมชาติได้ เช่น การเป็นอมตะไม่แก่ไม่ตาย อำนาจเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในทางไม่ดี ที่จัดว่าเป็นไสยศาสตร์ดำ คือใช้ทำร้ายหรือเป็นภัยแก่ผู้อื่น มีเพียงส่วนน้อยที่ใช้เพื่อช่วยเหลือคน หรือใช้ต่อสู้กับฝ่ายไม่ดี (เช่นในเรื่องมนตรา ใช้เพื่อรักษาคนป่วยโรคต่างๆ, เรื่องร่าง ใช้ขับไล่ผีหรือวิญญาณที่สิงร่างคน, เรื่องเกาะมหัศจรรย์ ใช้ต่อสู้กับสัตว์ร้าย เป็นต้น)
ผู้ที่จะเรียนรู้ไสยศาสตร์ได้นั้น…นำเสนอว่าต้องเป็นผู้มีพลังจิตแก่กล้า ซึ่งอาจมีมาแต่กำเนิด หรือฝึกฝนขึ้นภายหลังก็ได้ เช่น การฝึกสมาธิในทางพุทธศาสนาจนเกิดเป็นฌานขั้นสูง ทำให้มีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ อาทิ ถอดจิตจากร่างท่องเที่ยวไปในภพภูมิต่างๆ ได้ หรือใช้พลังจิตทำให้น้ำหรืออากาศเย็นร้อนได้ตามต้องการ…สอดคล้องกับความเชื่อท้องถิ่นของสังคมไทย เช่น เรื่องผีฟ้า ซึ่งเป็นผู้ที่สามารถรักษาคนเจ็บป่วยด้วยอำนาจและพิธีกรรมไสยศาสตร์ได้ ว่าต้องเป็นคนที่มี “เชื้อ” ซึ่งก็คือมีอำนาจพลังจิตพิเศษนั่นเอง
ในส่วนความเชื่อเรื่องการฝึกฌานสมาธิในพุทธศาสนา ว่าอาจทำให้มีอำนาจเหนือธรรมชาติได้นั้น ก็เป็นความเชื่อถือที่คนไทยรับรู้มาจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนา เช่น ดังมีผู้รวบรวมไว้โดยอ้างหนังสือธรรมวิภาคปริเฉทที่ 2 ซึ่งรจนาโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กล่าวถึง อภิญญา 6 ซึ่งทรงนำมาจากฉกนิบาต ว่าได้แก่
“1. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ [คนเดียวนิรมิตเป็นคนมากก็ได้ กลับเป็นคนเดียวอีกก็ได้ ล่องหนคือผ่านไปในวัตถุกั้นขวางได้ เดินบนน้ำ เหาะในอากาศได้] 2. ทิพพโสต หูทิพย์ 3. เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่น [จับความรู้สึก หรือความคิดของผู้อื่นได้ ทายพฤติการณ์แห่งจิตใจของเขาได้] 4. บุพเพนิวาสานุสสติ ระลึกชาติได้ 5. ทิพพจักขุ ตาทิพย์ [รู้จุติและการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย มองทะลุเห็นเข้าไปในสิ่งเร้นลับต่าง ๆ ได้] และ 6. อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้น [ขจัดกิเลสต่างๆ ได้หมดสิ้น]” [3]
การที่คัมภีร์ทางพุทธศาสนา ได้บันทึกเกี่ยวกับพลังอำนาจเหนือธรรมชาติไว้ดังกล่าวข้างต้น ส่วนหนึ่งมีผลให้คนไทยเกิดศรัทธาเชื่อถือในพระสงฆ์…ทำให้ในสังคมไทยมีเรื่องราวพระดัง หรือเกจิอาจารย์…ว่าอาจอำนวยโชคลาภให้ได้จากความรู้ความสามารถเหนือธรรมชาตินั้น
ในนวนิยายกลุ่มที่นำมาพิจารณานอกจากการอ้างที่มาของไสยศาสตร์ หรืออำนาจเหนือธรรมชาติตามความเชื่อท้องถิ่น และตามคัมภีร์พุทธศาสนาแล้ว แหล่งที่มาของความรู้ไสยศาสตร์ที่นักเขียนมักอ้างอิงถึงอีก คือเป็นความรู้โบราณจากชนชาติ ขอม อินเดีย (พราหมณ์) พวกยิปซี จากยุโรป [หมายถึง มนต์ดำ (black magic) ของพวกพ่อมดแม่มด] รวมถึงจากชาวอียิปต์โบราณ ส่วนนวนิยายที่เป็นแนวจินตนาการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ (เช่นเรื่อง สุดขอบจักรวาล และเดอะไวท์โรด) ผู้แต่งนำเสนอว่าไสยศาสตร์เป็นความรู้แขนงหนึ่งที่เรียนรู้ได้จากสถานศึกษา เป็นความรู้และอาชีพที่ยอมรับกันทั่วไป ซึ่งมีความก้าวหน้ามีการพัฒนาไม่แพ้วิทยาศาสตร์
การอ้างไสยศาสตร์เป็นความรู้โบราณ จากชนชาติที่มีอารยธรรมมาช้านานนั้น ด้านหนึ่งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ น่ายอมรับว่าไสยศาสตร์มีอยู่จริง เนื่องจากชนชาติเก่าแก่เหล่านั้น มีวิทยาการความเจริญมากมายในอดีต ไสยศาสตร์คงเป็นความรู้หนึ่งของอารยธรรมโบราณด้วย นอกจากนี้การอ้างที่มาที่เก่าแก่ยังทำให้ไสยศาสตร์มีภาพของความคลุมเครือ ลึกลับ ไม่ชัดเจน จึงทำให้ไม่จำเป็นต้องมีการอธิบายเหตุผล หรือรับรองอย่างชัดแจ้ง
อย่างไรก็ตามในนวนิยายไทยร่วมสมัยที่พิจารณา ซึ่งเป็นวรรณกรรมในยุคที่ความเจริญด้านวิทยาศาสตร์ (หลักเหตุผลเชิงประจักษ์) ได้แพร่หลายในสังคมไทยมากขึ้นกว่าอดีต โดยเฉพาะในหมู่ผู้มีการศึกษา ดังนั้นจึงพบว่านักเขียนมักพยายามอธิบาย หรือให้เหตุผลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ หรือการมีอยู่ของไสยศาสตร์ (อำนาจเหนือธรรมชาติ) โดยเทียบเคียงกับหลักวิทยาศาสตร์ เช่น ปรจิตวิทยา (Parapsychology) [4] มาใช้อธิบายเหตุการณ์เหนือธรรมชาติของเรื่อง อาทิ การใช้พลังจิตทำให้วัตถุเคลื่อนที่ (psychokinesis) การรู้ความคิดของผู้อื่น (telepathy) การส่งกระแสจิต (chairvoyance) เป็นต้น
ทัศนะของนักเขียนต่อเรื่องไสยศาสตร์
ตัวอย่างการอธิบายเรื่องเหนือธรรมชาติหรือไสยศาสตร์ ด้วยมุมมองหรือหลักวิทยาศาสตร์ เช่นเรื่องเกาะมหัศจรรย์ ชายชราผู้หนึ่งรู้ที่ตั้งของเกาะลึกลับ ที่ปกติไม่มีใครเคยเห็นด้วยการเข้าฌานสมาธิ นักเขียนอธิบายความสามารถหยั่งรู้นั้นว่า เป็นความรู้วิทยาศาสตร์ทางจิตที่เป็นไปได้ หรือในนวนิยายหลายเรื่อง ผู้แต่งจะอธิบายเหตุการณ์แปลกประหลาดเหนือธรรมชาติด้วยหลักของสสาร พลังงาน คลื่นแสง-เสียง เป็นต้น เช่นเรื่องร่าง และสุดขอบจักรวาล ส่วนนวนิยายแนวจินตนาการวิทยาศาสตร์ เช่นเรื่องเดอะไวท์โรด ซึ่งเห็นชัดว่าได้รับอิทธิพลแนวเรื่องจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่โด่งดังในช่วงที่ผ่านมา (เช่น เรื่องแฮร์รี่พอตเตอร์, ดิ เอ็กซ์เมนซ์ หรือเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์) ก็อธิบายว่าไสยศาสตร์หรืออำนาจเหนือธรรมชาติเป็นความรู้หนึ่งทำนองเดียวกับศาสตร์อื่นๆ สามารถเรียนรู้ฝึกฝนขึ้นได้ตามคัมภีร์หรือตำรา
นวนิยายหลายเรื่องนักเขียนมักกำหนดให้มีตัวละครนักวิทยาศาสตร์ที่เป็น “ฝรั่ง” (ทั้งนี้เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือว่ามีวิทยาการความรู้สูงกว่าคนไทย) สนใจศึกษาตรวจสอบเรื่องไสยศาสตร์ด้วยหลักเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ (เช่นเรื่อง ไสยดำ, หุ่นหลวง และใต้เงาปิรามิด) วิธีนี้ทำให้เนื้อเรื่องโดยเฉพาะประเด็นไสยศาสตร์ดูทันสมัยและเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ส่วนในอีกด้านนวนิยายบางเรื่องก็เสนอทัศนะอย่างชัดเจนว่า วิทยาศาสตร์มีข้อจำกัดไม่สามารถอธิบายไสยศาสตร์หรือเรื่องเหนือธรรมชาติได้แน่ชัด (เช่นเรื่อง อมฤตาลัย, เจ้ากรรมนายเวร และภวาภพ) ซึ่งนี่ก็เป็นการปฏิเสธของผู้แต่งว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้เหนือกว่าไสยศาสตร์
การที่นวนิยายไทยร่วมสมัยสื่อสารกับผู้อ่าน โดยนำเสนอเรื่องไสยศาสตร์ที่มีอยู่ในสังคมไทย ด้วยการอธิบายหรือเทียบเทียงกับหลักการวิทยาศาสตร์นั้น อาจพิจารณาได้หลายแง่มุม กล่าวคือ เหตุผลหนึ่งเป็นการนำเสนอเรื่องไสยศาสตร์ที่มีภาพว่าเป็นเรื่องโบราณ งมงายล้าสมัยให้ดูทันสมัยน่าสนใจขึ้น หรืออาจมองได้ว่าความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ในสังคมไทย มีอิทธิพลสูงครอบงำความคิดของคนไทยอยู่มาก ถึงแม้ในยุคที่วิทยาศาสตร์แพร่หลายก็ยังมีเรื่องไสยศาสตร์เหนือธรรมชาติผสมผสานอยู่ด้วย
เนื้อเรื่องของนวนิยายบางเรื่องนำเสนอความขัดแย้งของแนวคิดไสยศาสตร์กับวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง ชวนให้ผู้อ่านคิดพิจารณาความน่าเชื่อถือ หรือการมีอยู่ของไสยศาสตร์ โดยนักเขียนบางคนแสดงจุดยืนเชื่อว่า ไสยศาสตร์หรืออำนาจเหนือธรรมชาติมีอยู่จริง แม้จะอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์ไม่ได้ ส่วนนักเขียนบางคนก็แสดงท่าทีเป็นกลางว่า เมื่อวิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้าขึ้นกว่าในปัจจุบัน คงสามารถไขปริศนาของไสยศาสตร์ได้ เมื่อนั้นความลึกลับคลุมเครือของไสยศาสตร์ ก็จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นมา
การใช้และจุดมุ่งหมายของไสยศาสตร์
ประเด็นเบื้องต้นที่ควรสังเกตเกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ ที่นวนิยายไทยร่วมสมัยนำเสนอนั้นคือ ไสยศาสตร์เป็นความรู้หรือความสามารถพิเศษที่เกี่ยวข้องกับอำนาจเหนือธรรมชาติ อำนาจเหนือธรรมชาตินั้นโดยตัวเองนับว่าเป็นกลาง คือไม่ดีไม่ชั่ว หรือให้คุณให้โทษแก่ใคร แต่จะเป็นไปตามผู้ใช้ กล่าวคือหากใช้ในทางชั่วก็เป็นโทษ แต่ถ้าใช้ในทางดีก็เป็นคุณ ดังที่มีการแบ่งว่าเป็นไสยดำและไสยขาว นอกจากนี้อำนาจเหนือธรรมชาติที่มีกล่าวถึงมากในนวนิยายยังรวมถึง “อำนาจพุทธคุณ” ซึ่งหมายถึงอำนาจหรืออานิสงส์ของบุญบารมีของบุคคล ของพระภิกษุสงฆ์ หรือวัตถุมงคล เช่น สายสิญจน์ พระพุทธรูป เครื่องรางของขลัง การสวดมนต์ เป็นต้น อำนาจพุทธคุณนี้นับว่าเป็นอำนาจที่เหนืออำนาจไสยศาสตร์ สามารถเอาชนะหรือปราบปรามไสยศาสตร์ได้
นวนิยายไทยร่วมสมัยได้กล่าวถึงมากเกี่ยวกับไสยศาสตร์ (ดำ) ที่ใช้ไปในทางร้าย วัตถุประสงค์เพื่อสนองความต้องการหรือกิเลสตัณหาของผู้ใช้ กล่าวคือใช้เพื่อทำร้ายศัตรู หรือคนอื่นที่ขัดความต้องการของตน ใช้เพื่อให้ผู้ใช้มีอำนาจเหนือผู้อื่น เช่น เป็นใหญ่ตลอดไป เป็นอมตะ หรือใช้เพื่อให้สมหวังในความรัก เป็นต้น ลักษณะการใช้เหล่านี้ล้วนเป็นการกระทำที่พยายามฝืนกฎเกณฑ์ปกติ อันได้แก่กฎระเบียบของสังคม และรวมถึงกฎธรรมชาติ การใช้ไสยศาสตร์จึงมีนัยของการแสดงอำนาจอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งมักถูกประณามว่าไม่ถูกต้องเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น
อย่างไรก็ตามนวนิยายหลายเรื่องก็ได้กล่าวถึง การใช้ความรู้ความสามารถทางไสยศาสตร์ที่จัดว่าเป็นทางดีอยู่บ้าง ดังที่กล่าวมาแล้ว เช่น การรักษาโรค การป้องกันภัย ที่น่าสนใจคือ นวนิยายบางเรื่องผู้แต่งพยายามสื่อหรืออธิบายถึงการใช้ไสยศาสตร์ขาว (ซึ่งมีโหราศาสตร์รวมอยู่ด้วย) ในการดำเนินชีวิตของคนไทยร่วมสมัย เช่น การใช้โหราศาสตร์ผูกดวงทำนายโชคชะตา เพื่อประโยชน์ในการลงทุนเล่นหุ้นสำหรับคนรวย หรือซื้อหวยสำหรับคนจน ดังในเรื่องคนเหนือดวง หรือในเรื่องร่าง ผู้แต่งอธิบายถึงข้อดีของ “ร่างทรง” ที่ช่วยเหลือขับไล่วิญญาณเร่ร่อน (โอปปาติกะ) ที่สิงร่างคนได้ หรือช่วยให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องภพภูมิ ด้วยหลักเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งความรู้เหล่านี้ความจริงก็มีบันทึกอยู่ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา…
…นวนิยายไทยส่วนใหญ่มักเน้นชี้โทษของไสยศาสตร์ เพื่อเป็นการเตือนสติป้องกันไม่ให้คนเห็นดีเห็นงามในไสยศาสตร์ โดยผู้แต่งมักสรุปจบเรื่องด้วยการให้อำนาจพุทธคุณ ซึ่งก็เป็นอำนาจเหนือธรรมชาติเช่นเดียวกันให้ปราบปรามเอาชนะไสยศาสตร์ได้ เป็นทำนอง “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” เสมอ…
เทคนิคการนำเสนอเรื่องไสยศาสตร์ในนวนิยาย
ไสยศาสตร์ในนวนิยายไทยร่วมสมัยที่พิจารณาศึกษานี้ ผู้แต่งมักเสนอให้มีภาพของความลึกลับ คลุมเครือผ่านทางตัวละครคนแก่ (ทั้งชายและหญิง) และฉากสถานที่โบราณทึบทึม เช่น ห้องใต้ดิน ห้องลับ สุสาน ในป่าชนบทดินแดนห่างไกล หรือเทวสถานโบราณ ด้านวันเวลาก็มักเป็นอดีต ชาติภพก่อน ยุคโบราณ หรือช่วงกลางคืนเดือนมืด ความคิดที่แฝงอยู่ในฉากต่างๆ ที่กล่าวมานี้ สะท้อนถึงทัศนะของนักเขียนที่เห็นว่า ไสยศาสตร์เป็นความรู้หรืออำนาจเก่าที่ล้าสมัยพ้นยุค และกำลังจะหมดไป ความรู้หรืออำนาจใหม่ที่นักเขียนกล่าวเปรียบเทียบถึงที่จะเข้ามาแทนที่ไสยศาสตร์คือ วิทยาศาสตร์ กับพุทธศาสนาในรูปแบบที่อธิบายความตามหลักวิทยาศาสตร์
ภาพของวิทยาศาสตร์หรือพุทธศาสนา (อำนาจพุทธคุณ) ที่ปรากฏเทียบเคียงกับไสยศาสตร์ในนวนิยายไทยร่วมสมัย มักนำเสนอผ่านตัวละครหนุ่มสาว (พระเอก-นางเอก) ที่มีการศึกษา มีความคิดสมัยใหม่ (ไม่งมงายเชื่อในไสยศาสตร์) ฉากสถานที่ก็มักเป็นในเมือง ในยุคปัจจุบันที่มีความเจริญสะดวกสบายทางวัตถุ เป็นช่วงเวลากลางวันหรือในที่สว่างไสว ตัวละครและฉากเหล่านี้ล้วนสะท้อนแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับไสยศาสตร์ คือเป็นทัศนะที่มุ่งมองคาดหวังไปข้างหน้า มีพลังของความแปลกใหม่ที่รองรับด้วยหลักเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ เป็นแนวคิดที่เชื่อมั่นในปัจเจกภาพของมนุษย์ ว่าอาจเรียนรู้กฎเกณฑ์ของโลกหรือธรรมชาติได้ และจะคิดสร้างวัตถุหรือเครื่องมือขึ้นเอาชนะกฎเกณฑ์เหล่านั้นได้https://imasdk.googleapis.com/js/core/bridge3.551.0_th.html#goog_374146828
ประวัติศาสตร์10100:09/0:50
ประเด็นนี้น่าสะดุดใจว่าวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์นั้น ดูไปก็ไม่ต่างจากจุดมุ่งหมายของการใช้ไสยศาสตร์ นั่นคือต้องการต้านทานฝ่าฝืนกฎระเบียบที่มีอยู่ เพื่อสนองความต้องการ (กิเลส) ของผู้ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์หรือไสยศาสตร์นั้น เป็นการแสดงอำนาจที่เหนือกว่ากฎเกณฑ์ เหนือกว่าแม้กฎธรรมชาติ หรือที่มนุษย์สมมติเรียกกันว่าพระเจ้า
ในส่วนเนื้อเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ ที่นักเขียนนำเสนอในนวนิยายไทยร่วมสมัยนั้น มีใน 3 ลักษณะ คือ 1. ประณาม ติเตียนว่าไสยศาสตร์ไม่ดี เป็นสิ่งเลวร้าย คนทั่วไปไม่ควรยุ่งเกี่ยวศึกษาหรือนำมาใช้ 2. ในนวนิยายบางเรื่องแสดงความเห็นว่าไสยศาสตร์เป็นศาสตร์ หรือความรู้อย่างหนึ่งที่มีอยู่ในสังคมมนุษย์ ผู้แต่งพยายามให้ข้อยืนยันและคำอธิบายต่างๆ ตามหลักเหตุผลหรือหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อสนับสนุนความมีอยู่ของไสยศาสตร์ การนำเสนอในลักษณะนี้เป็นการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ที่คุ้นชินกับแนวคิดหรือเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจเรื่องไสยศาสตร์มากขึ้น และ 3. นวนิยายบางส่วนนำเสนอว่าไสยศาสตร์เป็นความรู้พิเศษ ที่ลึกซึ้ง ลึกลับเกินกว่าที่วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันจะเข้าใจหรืออธิบายได้
อย่างไรก็ตามนักเขียนกลุ่มนี้ก็แสดงความหวังว่า หากวิทยาศาสตร์ในยุคอนาคตเจริญก้าวหน้าขึ้นกว่าปัจจุบัน จนสามารถอธิบายหลักเกณฑ์หรือเหตุผลของไสยศาสตร์ได้แล้ว เมื่อนั้นไสยศาสตร์ก็จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์…
เชิงอรรถ
[1] ได้แก่เรื่อง อุบัติจากดวงดาว (นันทนา วีระชน, 2530), คนเหนือดวง และมนตรา (แก้วเก้า, 2532 และ 2538), ภวาภพ (อาริตา, 2533), ร่าง (ภูเตศวร, 2534), อมฤตาลัย และ ใต้เงาปิรามิด (จินตวีร์ วิวัธน์, 2535 และ 2538), ไสยดำ (โสภี พรรณราย, 2539), เจ้ากรรมนายเวร (ฐา-นวดี, 2534), หุ่นหลวง (เยาวเรศ เดชาคณีย์, 2545), สุดขอบจักรวาล (จุฑารัตน์, 2545), เกาะมหัศจรรย์ (นาวี รังสิวรารักษ์, 2545), เทวลัยอสูร (เกษรา บรรณ, 2546) และ เดอะไวท์โรด ภาค 1 (ดร. ป๊อบ, 2546)
[2] การกำหนดเวลาเริ่มต้นข้อมูลที่ปี 2530 นั้น เพราะเหตุผลว่ารัฐบาลไทยได้เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) ที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการพัฒนาประเทศในปีดังกล่าว จึงนับเป็นจุดน่าสนใจว่าปีการเริ่มต้นนั้น สังคมไทย (ที่สะท้อนในนวนิยาย) มีทัศนะความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ ซึ่งหมายรวมถึงเรื่องเหนือธรรมชาติต่างๆ ด้วย อนึ่ง นวนิยายที่ใช้ศึกษาบางเรื่องเคยมีการพิมพ์ครั้งแรกก่อนปี 2530 แต่ก็มีการพิมพ์ซ้ำอีกในระยะเวลาที่กำหนดศึกษา จึงนำมาพิจารณาด้วย เพราะเรื่องราวความคิดของนวนิยายเหล่านั้นยังร่วมสมัยมีคนนิยมอ่านอยู่
[3] ประสาร ทองภักดี. อิทธิปาฏิหาริย์. (พระนคร : ส.ธรรมภักดี, 2494), น. 225-226.
[4] การศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางจิตด้วยหลักวิทยาศาสตร์ อาทิเรื่อง การสื่อสารทางจิต หรือโทรจิต (telepathy), การใช้พลังจิตเคลื่อนวัตถุ (psychokinesis), การเข้าฌาน-รู้เหตุการณ์ในที่อื่น (Clairvoyance) เป็นต้น