เจ้าชายน้อย Le Pettit Prince

เจ้าชายน้อย

เจ้าชายน้อย
แปลจากหนังสือ: Le Pettit Prince
ผู้เขียน: Antoine de Saint-Exupéry
ผู้แปล: อำพรรณ โอตระกูล
สำนักพิมพ์: จินด์
พิมพ์ครั้งที่ 1 — มีนาคม 2556

เนื้อหาโดยสังเขป


หนังสือเล่มเล็กๆ พร้อมภาพประกอบสวยงามเล่มนี้จะพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสกับวรรณกรรมคลาสสิกระดับโลก ผลงานของ “อองตวน เดอ แซงแตก-ซูเปรี” เนื้อหาของหนังสือง่ายๆ แต่เต็มไปด้วยความคิดฝัน และแฝงไปด้วยปรัชญาอันยิ่งใหญ่ นับเป็นวิวาทะทางวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก งานประพันธ์ที่นำเสนอในท่วงทำนองผสมผสานระหว่างกวีนิพนธ์และงานแฟนตาซี โดยอิงสารัตถะแห่งวัฒนธรรมตะวันตก จะนำพาคุณผู้อ่านไปเผชิญปัญหาพื้นฐานไร้พรมแดน การเลือกเส้นทางเดินในชีวิต เป็นการเชิญชวนให้เข้าสู่การเจริญภาวนาในอีกรูปแบบหนึ่ง เต็มไปด้วยความสุข และความประทับใจ ซึ่งจะตราตรึงอยู่ในดวงใจใครหลายคนอีกแสนนาน

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • เจ้าชายน้อยภาคภาษาไทย ฉบับครบรอบ 70 ปี เป็นสำนวนไทยสำนวนแรก แปลจากภาษาฝรั่งเศส
  • หนังสือเล่มนี้เป็น 1 ใน วรรณกรรม 50 เรื่องที่ต้องอ่านก่อนโต สนับสนุนโดยสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ประโยคสุดโดน จากเจ้าชายน้อย

“มนุษย์มักหลงลืมความจริงข้อนี้” สุนัขป่ากล่าว “แต่เธอต้องไม่ลืมมัน เธอจะต้องรับผิดชอบต่อทุกสิ่งที่เธอมีความสัมพันธ์ด้วย”

สุนัขป่าพูดถึงความสัมพันธ์ให้เจ้าชายน้อยฟัง หลายครั้งตัวเราได้เผลอไปสร้างความสัมพันธ์กับใครสักคน แล้วหลงลืมไป ไม่ได้พยายามทำความเข้าใจว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร พี่ตินคิดว่า หมาป่าพูดถูกมาก ในเรื่องมีประโยคที่บอกว่า เมื่อเราสร้างความสัมพันธ์กับใครสักคน เราเสี่ยงที่จะเจ็บปวด… จริงยิ่งกว่าจริง

“ฉันอวดผลงานชิ้นเยี่ยมนี้แก่พวกผู้ใหญ่ และถามเขาว่ารูปของฉันทำให้เขากลัวไหม พวกเขาก็ตอบว่า “ทำไมหมวกทำให้คนกลัวเล่า” รูปภาพของฉันไม่ได้เป็นรูปหมวก แต่เป็นรูปงูเหลือมที่กำลังนอนย่อยช้างที่มันกลืนเข้าไป ฉันจึงต้องวาดรูปช้างลงไปภายในงูเหลือมเพื่อให้พวกผู้ใหญ่เข้าใจ เพราะพวกนี้ต้องการคำอธิบายเสมอ”

ประโยคนี้ ปรากฎตอนต้นๆ เรื่องเลย ผู้เขียนนึกถึงสมัยตัวเองยังเป็นเด็ก วัยที่เขาเคยเต็มไปด้วยความฝันและจินตนาการ เขาเคยวาดภาพภาพหนึ่ง แต่ผู้ใหญ่ก็มองเป็นอีกแง่หนึ่ง หลังจากนั้น เขาก็เลยเลือกที่จะไม่พูด ไม่ตอบ ถ้าพูด ก็จะพูดเพื่อให้ผู้ใหญ่เข้าใจ ประโยคเหมือนจะสื่อว่า เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เรามักหลงลืมความฝันวัยเด็กของเราไปโดยไม่รู้ตัว

“นี่คือความลับของฉัน เราจะมองเห็นอะไรๆ ให้แจ่มชัด ก็ด้วยหัวใจ เพราะสิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นได้ด้วยสายตา”

เป็นประโยคยอดฮิต และเป็นประโยคที่พี่ตินจำได้แม่นที่สุดในเรื่องนี้แล้ว “สิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นด้วยสายตา” นักเขียนสอนเราได้ดีมากๆ ใช่แล้ว เมื่อใดที่เราอยากมองเห็นอะไรชัดๆ ให้ใช้หัวใจมอง อย่าตัดสินใครด้วยการมองเพียงอย่างเดียว…

“ถ้าหากมีเด็กชายตัวเล็กๆ คนหนึ่งมาทักคุณ ถ้าเขาหัวเราะ ถ้าเขามีผมสีทอง ถ้าหากเขาไม่ตอบคำถามเวลาคุณถาม คุณจะเดาได้ทันทีว่าเขาคือใคร ได้โปรดกรุณาช่วยส่งข่าวถึงฉันด้วยว่าเขากลับมาแล้ว อย่าปล่อยให้ฉันต้องโศกเศร้าต่อไปอีกเลย”

ประโยคนี้ เป็นตอนจบของเรื่อง อยู่ในหน้าสุดท้ายเลย เป็นบทสรุปที่คนเขียนได้ขมวดปมเอาไว้ว่า เจ้าชายน้อย คือตัวเราตอนเป็นเด็กนั่นเอง ผู้ใหญ่หลายคน ได้ทำเจ้าชายน้อยของตัวเองหายไป ผู้เขียนเองก็เช่นกัน เจ้าชายน้อยได้ตายจากเขาไปแล้ว นำความหวัง ความฝัน และจินตนาการไปจากเขาด้วย และเขาก็หวังว่าสักวันหนึ่ง เขาจะได้ “เจ้าชายน้อย” กลับคืนมาอีกครั้ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *