นวนิยาย

นวนิยายไทยร่วมสมัย ‘ดังนั้นจึงสิ้นสลาย’

“ชอบ อนุจารี เป็นคนที่ปล่อยมือจากอะไรไม่ได้สักอย่าง หวนหาอดีตที่ไม่มีวันย้อนคืน ไล่คว้าเงาที่เขาเองยังไม่รู้ว่าเรื่องไหนเป็นความจริง ขมขื่นกับการมีชีวิต จมปลักกับหล่มความเชื่อ ไม่ฝันหาอนาคตใดๆ ความน่ากลัวที่สุดมันอยู่ตรงนี้เอง เพราะมันชวนให้คิดว่า หรือแท้จริงแล้วในส่วนลึก เราทุกคนล้วนเป็นชอบ อนุจารี”


การจ้องลึกลงไปในความทรงจำ อดีต หรือในที่นี้คือ ‘ประวัติศาสตร์’ บางคราก็ชวนให้รู้สึกเหมือนกระโดดลงไปในห้วงเหวที่มีหมอกปกคลุม เราไม่มีวันรู้เลยว่าก้นบึ้งนั้นอยู่ไหน และมีสิ่งใดซุกซ่อนอยู่เบื้องล่าง

หรือท้ายที่สุดแล้ว ทุกสิ่งก็คือหมอกควันเลือนราง ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย ดังนั้นจึงสิ้นสลาย ให้ความรู้สึกพร่ามัวหม่นเบลอเช่นนี้เอง เสียงแรกที่เริ่มเล่ากล่าวถึงเพื่อนคนหนึ่ง–ชอบ อนุจารี คือชื่อของผู้ที่ถูกกล่าวถึง ผู้ซึ่งเพิ่งตัดสินใจเลือกทางเดินของตัวเองด้วยการสิ้นสลายไปจากโลกใบนี้ คำถามคือ อะไรทำให้เขาตัดสินใจเช่นนั้น? ทำไมเขาถึงเลือกทางเพื่อจบชีวิตของตน?

เราจะไม่ขอลงรายละเอียดเนื้อเรื่อง แต่ในส่วนของเทคนิค ผู้เขียนมีวิธีการเล่าที่น่าสนใจ ทั้งผ่านอนุทิน จดหมาย ต้นฉบับนวนิยาย อีเมล และส่วนเสี้ยวความคิดที่ไหลพรั่งพรายอย่างกระแสธารความคิด (Stream of Consciousness) แบบบุรุษที่ 2

เทคนิคที่หยิบขึ้นมานี้ทำให้เราต้องจดจ่อกับเรื่องเล่าของเขา เพราะส่วนเล็กๆ เหล่านั้นจะโปรยร่องรอยบางอย่างเอาไว้ ข้อสำคัญคือ ใครจะอ่านแบบตามรอยที่ว่าไปก็ได้ (แต่ก็มีความเฉพาะทางในระดับหนึ่ง เช่น จำเป็นต้องรู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่หลัง 2475) หรือจะเรื่องแบบเรื่องเล่าทั่วไปก็ได้เช่นกัน

อีกข้อสำคัญที่น่าใคร่ครวญ จะเห็นว่า ‘ดังนั้นจึงสิ้นสลาย’ ไม่อาจอ่านแยกขาดจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้เลย มันเต็มไปด้วยสารพัดคำถามที่อาจจะมีใครสักคนยกขึ้นมาลอยๆ ก่อนจะลอยหายไปในความว่างเปล่าคลุมเครือของสิ่งที่เรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์ไทย’ นิธิ นิธิวีรกุล จงใจหยิบเรื่องราวที่น่าข้องใจเหล่านี้มาเล่าผ่านตัวละครสามรุ่นที่ผ่านชีวิตและบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน จนมาถึงตัวเอกผู้เป็นต้นตอของคำถามทั้งมวล มาถึงชอบ อนุจารี ซึ่งมีชีวิตอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบัน

ชอบ อนุจารี ผ่านการถูกเขย่าให้ตื่นหลายครั้ง ทั้งจากเรื่องรุ่นยาย รุ่นแม่ มาถึงความสัมพันธ์ส่วนตัว แม้มองเผินๆ นี่คืออาการ ‘อกหัก’ จากคนในชีวิต (ที่เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่แน่เหมือนกันว่า ชอบ อนุจารี เคยมีประวัติเรื่องรักๆ ใคร่ๆ อย่างที่เขาเขียนในนิยายหรือไม่) ตามแบบที่โปรยไว้ว่า ‘นวนิยาย [พยายาม] โรแมนติคเรื่องหนึ่ง’ แต่สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อมองลึกลงไปคือ อาการอกหักจาก ‘ความเชื่อ’ ไม่ว่าจะต่อคน (เมื่อรู้ความลับของแม่และยาย) หรือต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศ

และการ ‘อกหัก’ ในลักษณะนี้ไม่ใช่สิ่งที่สามารถสลัดออกหรือเยียวยาได้ง่ายดายนัก เพราะเมล็ดพันธุ์ของความรู้สึกถูกทรยศจะแทรกซอนเข้าไปในทุกสิ่งที่เราเคยเชื่อ กระชากเอาความศรัทธาที่มีต่อบางสิ่งไป ทลายความนับถือที่มีต่อตัวเอง และมีน้อยคนนักที่จะก้าวข้ามไปได้โดยที่ยังมีบางสิ่งให้ยึดเหนี่ยว

แน่นอนว่า ชอบ อนุจารี ไม่ใช่คนในกลุ่มดังว่า เพราะเขาเลือกทางออกด้วยการจบชีวิตตัวเอง ซึ่ง ณ ที่นี้จะไม่พูดถึงเรื่องบาปบุญหรือความเชื่อทางศาสนา แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ความศรัทธาไม่มีทางไป สารอย่างหนึ่งที่เราพอมีเรี่ยวแรงกระทำด้วยตัวเองได้ ก็คือการพาตัวเองออกมาจากที่ตรงนั้น ไม่ว่าจะด้วยร่างกายหรือแค่ในเชิงความคิดก็ตาม


เมื่อย้อนกลับไปมองหน้าปก กลุ่มควันอันพร่าเลือนนั้นแซมสีแดงที่ราวกับละลายหมุนวนอยู่ในน้ำ ถูกเน้นให้โดดเด่นด้วยสปอตยูวี ชวนให้คิดถึง ชอบ อนุจารี คิดถึงการเชือดข้อมือในอ่างอาบน้ำของเขา ความตายของ ชอบ อนุจารี เลือนหายไป บิดเบี้ยวไม่เป็นรูปเป็นร่าง สะเปะสะปะด้วยคำบอกเล่าที่แวดล้อมตัวเขา การตีความจากสิ่งที่เขาเหลือทิ้งไว้ แต่เขาไม่เคยเป็นผู้เล่าเองเลย


และเมื่อสังเกตควันดำนั้นบนปกหลัง เราจะเห็นมือยื่นออกมาด้วยอาการทุรนทุราย ซึ่งไม่ได้มีแค่มือเดียว อาจมีคนมากมายติดอยู่ในควันเลือนรางแห่งประวัติศาสตร์นั้น คนซึ่งไม่เคยได้รับการบันทึกชื่อ ไม่มีประวัติศาสตร์ให้ค้นหาตัวตน เป็นฝุ่นละอองเล็กจ้อยที่ปลิวคว้างหายไปในหลืบเงา

จนสุดท้ายก็เสมือนพวกเขาไม่เคยมีตัวตน

การเรียนรู้ที่จะคว้าเปะปะหาชิ้นส่วนมาประกอบสร้างเป็นตัวตนของเราจริงๆ นั้นคือขั้นตอนที่ยากจะก้าวข้าม เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้มากกว่าความกล้าในการค้นลงไปในอดีต โดยเฉพาะกับอดีตที่เคยสร้างบาดแผลให้แก่เรา และจนทุกวันนี้รอยจางๆ นั้นก็อาจยังคงไม่ลบเลือน

ขณะเดียวกัน เมื่อปะติดปะต่อความเป็นมาของตัวเราได้แล้ว ก็ยังคงน่ากังขาอยู่ดีว่าสิ่งเหล่านั้นมี ‘ความจริง’ อยู่แค่ไหน?

บางคนรับมือกับความไม่รู้เหล่านี้ด้วยการ ‘ปล่อยเบลอ’ เสมือนว่าไม่เคยเกิดขึ้น บางคนดาหน้าประจันกับมัน บ่งเอาหนองในวันวานออกเพราะไม่ต้องการให้สิ่งนั้นเกิดซ้ำอีก แลกกับการกรากกรำเก็บบาดแผลเอาไว้ แต่ได้ชัยหรือไม่ หลุดพ้นได้จริงไหม–ยากที่จะตอบ

ขณะที่บางคนก็ติดหล่มระหว่างกลาง ระหว่างการเผชิญหน้ากับการปล่อยผ่าน ไม่อาจก้าวไปทางไหนได้ ทั้งเพราะไม่มีทางให้ไปต่อ และก็ไม่ชินชาพอที่จะเลือกทำเป็นลืมไป ผลก็คือ เหตุการณ์ฆ่าตัวตายในวันที่ 5 ธันวาคม ของ ชอบ อนุจารี แต่ไม่ว่าสิ่งที่เขาเลือกจะดูเป็นอย่างไร ตัว ชอบ อนุจารี ก็ตัดสินใจพาตัวเองออกมาแล้ว ด้วยการเป็นอิสระจากสิ่งเก่าตลอดกาล

ทว่าเขาเองกลับกอดปริศนาเอาไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ เราไม่เคยได้ยินเสียงของ ชอบ อนุจารี พูดจากปากเลย เนื้อเรื่องในส่วนที่ 3 ถูกอ้างในภายหลังว่าเป็นนวนิยายที่ ชอบ อนุจารี เขียน ดังนั้นก็เท่ากับว่าไม่มีเสียงจากตัวละครนี้เล่าสิ่งที่เป็นความคิดของเขาจริงๆ หรือแม้กระทั่งส่วนที่ 5 ซึ่งน่าจะเก็บตกชิ้นส่วนทั้งหมด ก็กลับเป็นเสียงของคนนอกที่เรียก ชอบ อนุจารี ว่า ‘คุณ’

บางทีสิ่งนี้อาจมีความหมายบางอย่าง ‘เสียง’ ที่ไม่เคยออกจากปาก ชอบ อนุจารี ราวกับขอบเขตกีดกั้นของคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีสิทธิ์ส่งเสียง เป็นควันจางๆ หมอกบางพร่าเลือนที่ไม่รู้ว่าอะไรคือจริง อะไรคือเท็จ เช่นเดียวกับความเป็นมาของตัว ชอบ อนุจารี ซึ่งเอาเข้าจริงเขาเองก็คงไม่รู้เช่นกันว่า ‘ประวัติศาสตร์’ เรื่องไหนของตัวเองกันแน่ที่เป็น ‘เรื่องจริง’

ชอบ อนุจารี เป็นคนที่ปล่อยมือจากอะไรไม่ได้สักอย่าง หวนหาอดีตที่ไม่มีวันย้อนคืน ไล่คว้าเงาที่เขาเองยังไม่รู้ว่าเรื่องไหนเป็นความจริง ขมขื่นกับการมีชีวิต จมปลักกับหล่มความเชื่อ ไม่ฝันหาอนาคตใดๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *