เกี่ยวกับนวนิยาย

ชวนมาอ่าน! 5 นิยายน่าสนใจ
บอกเล่าเรื่องวัฒนธรรมไทยและการเปลี่ยนแปลง

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาวเด็กดี ^^ ช่วงนี้อากาศค่อนข้างเปลี่ยนแปลงบ่อย บรรยากาศแบบนี้แหละที่เหมาะแก่การเปิดเพลงเบาๆ แล้วหมกตัวอยู่กับหนังสือนิยายสักเล่ม หรือไม่ก็เขียนผลงานดีๆ ออกมาสักเรื่อง นั่นแน่ะ ได้โอกาสบอกเล่าข่าวสารกันสักหน่อย ยังพอจำกันได้ใช่ไหมคะว่าช่วงนี้ทางเว็บไซต์เด็กดีดอทคอมของเรามีโครงการจัดประกวดผลงานวรรณกรรมรางวัลพระยาอนุมานราชธน ในหัวข้อ “วัฒนธรรมไทย” อยู่ 

และในวันนี้ เพื่อเป็นการทำให้น้องๆ เข้าใจและเห็นภาพการเล่าเรื่องวัฒนธรรมได้มากขึ้น พี่หวานจึงคัดเลือกนวนิยายที่น่าสนใจ มีการบอกเล่า เเสดงถึงค่านิยม ความคิด ความเชื่อ พฤติกรรม และการเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมของคนไทยในแต่ละสังคมในแต่ละช่วงเวลามาเเนะนำให้ทุกคนได้ลองไปอ่านกันดู เผื่อว่าจะมีใครได้เเรงบันดาลใจนำไปสร้างสรรค์พล็อตเรื่องสั้นใหม่ และมาร่วมส่งประกวดผลงานกับทางเว็บเพื่อลุ้นรางวัลอันทรงเกียรติของเราค่ะ 

ลองอ่านดูแล้วอย่าลืมส่งมานะคะ รางวัลดีงามมากๆ พี่หวานยังอยากได้เองเลย 

1. อยู่กับก๋ง : การเข้ามาของคนจีนที่ต้องปรับตัวเมื่อเจอกับวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป


หนังสือเรื่องอยู่กับก๋งนี่ พี่หวานจำได้ว่าเคยอ่านสมัยที่ยังเรียนมัธยมค่ะ ตอนนั้นครูที่โรงเรียนน่าจะให้อ่านเป็นหนังสือนอกเวลา (ไม่รู้ว่าสมัยนี้น้องๆ ยังต้องอ่านหนังสือนอกเวลากันอยู่รึเปล่า แหะๆ) ความรู้สึกตอนที่อ่านเพื่อไปสอบกับอ่านเพื่อความเพลิดเพลินแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยค่ะ พอมานั่งนึกถึงเนื้อหาในเล่มก็คิดถึงบรรยากาศเก่าๆ ของห้องแถวขึ้นมาด้วย

อยู่กับก๋งเป็นนวนิยายที่บอกเล่าชีวิตสมัยคนจีนยุคเสื่อผืนหมอนใบหอบข้าวของเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย ระหว่างที่อ่าน เราจะได้เห็นกระบวนการการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรยากาศชีวิตคนในห้องแถวในสมัยย้อนไปสักยี่สิบสามสิบปีที่แล้ว ก๋งเป็นตัวเเทนชาวจีนยุคแรกเริ่มที่ต้องกัดฟันก้มหน้าทำงานทุกอย่างด้วยความสุจริตและขยันอดทน ด้วยมีความหวังว่าชีวิตบนแผ่นดินไทยจะต้องเจริญขึ้นได้ในสักวัน เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่คนจีนส่วนมากขยันเพราะเขามีความเชื่อว่าคนขยันจะไม่อดตาย เพราะฉะนั้นถ้าทำงานอะไรได้ก็ต้องทำไปด้วยความอดทน

สิ่งที่ทำให้พี่หวานประทับใจกับนวนิยายเรื่องนี้นอกจากตัวละคร ก๋ง ก็คือตัวละคร หยก ที่เป็นหลานมาอยู่กับก๋ง หยกเป็นเด็กชายที่ภูมิใจในความเป็นคนไทยเชื้อสายจีนของตนเองอย่างมาก ตัวละครนี้ทำให้เราเห็นการใช้ชีวิตสองฝ่ายทั้งสังคมแบบคนจีนเเละคนไทยที่ผสมผสานกันอย่างกลมกลืน แม้ว่าจะมีก๋งที่เป็นคนจีนแท้ แต่ก๋งก็มักสอนให้หยกใช้ชีวิตด้วยความดี และต้องปรับตัวอยู่ในสังคมไทยให้ได้ เพราะก๋งรักความเป็นไทย เเต่ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมจีนเก่าแก่ของตนไว้เช่นกัน ตัวละครก๋งและหยกจึงเป็นอีกตัวละครที่เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ปรับตัว เเละเปิดรับวัฒนธรรมทั้งไทยและจีนได้อย่างลงตัว พี่หวานชอบคำสอนของก๋งที่บอกให้หยกเห็นเรื่องเรียนเป็นสำคัญเพราะถ้ามีความรู้ก็สามารถมีวิชาไว้เลี้ยงชีพต่อไปได้ ไม่ต้องมาดิ้นรนอยู่ในห้องแถวให้ลำบากอย่างนี้ และสิ่งสำคัญนอกจากเรื่องการเรียนที่ก๋งย้ำกับหยกอยู่ตลอดเวลาคือเราต้องเป็นคนดี เพราะการทำความดีความเลวเราเลือกทำเองได้ แต่เรื่องความจนความรวย ถึงเราจะเลือกเองไม่ได้แต่เราเปลี่ยนแปลงมันได้ พี่หวานเชื่อว่าถ้าใครได้อ่านเรื่องนี้จะต้องรู้สึกประทับใจในความคิดและคำสอนของก๋งที่คอยสอนหยก เพราะหลายคำสอนที่ปรากฏในหนังสือก็ยังสามารถใช้ได้จริงในสังคมไทยปัจจุบันที่แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานแล้วก็ตามค่ะ

2. จดหมายจากเมืองไทย : เรื่องเล่าผ่านมุมมองคนจีนยุคอพยพที่มีต่อประเทศไทย


สำหรับเรื่องจดหมายจากเมืองไทยเป็นนวนิยายที่พี่หวานเคยอ่านมาเมื่อนานมาแล้วสมัยเรียนเช่นเดียวกับเรื่องอยู่กับก๋ง นวนิยายสองเรื่องนี้มีความคล้ายกันตรงที่ว่าเป็นการเล่าเรื่องของชาวจีนที่อพยพมาอยู่เมืองไทย เป็นยุคตั้งตัว ที่ต้องเผชิญกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม อย่างที่พี่หวานเขียนไปข้างต้นเเล้วว่าเรื่องอยู่กับก๋งเป็นเรื่องที่ตัวก๋งเองเป็นชาวจีนแท้ๆ เเต่ก็พยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมไทย เเละยังคงสอนหยกผู้เป็นหลานชายให้เข้าใจถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมไทย-จีนด้วย

ส่วนในเรื่องจดหมายจากเมืองไทยจะมีการยกประเด็นความขัดแย้งที่ชาวจีนยังไม่สามารถยอมรับวัฒนธรรมไทยที่เผชิญได้ ตัวละครหลายคนยังยึดในวัฒนธรรมดั้งเดิมจากประเทศจีนที่ตนเองเคยปฏิบัติซึ่งลักษณะนั้นก็ส่งผ่านมายังรุ่นลูก รุ่นหลานด้วย จดหมายจากเมืองไทยจึงเป็นการสะท้อนเรื่องความคิดที่เป็นด้านลบของคนจีนต่อคนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ทำให้เนื้อหาเเตกต่างจากก๋งที่สอนให้หยกรักและภูมิใจในความเป็นคนไทยเชื้อสายจีน จนหยกรู้สึกว่าตนเป็นคนไทยคนหนึ่ง พี่หวานคิดว่าถ้าน้องๆ พอมีเวลาสามารถอ่านนวนิยายทั้งสองเรื่องก็จะยิ่งทำให้เห็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมที่เพิ่มมากขึ้น เเละยังจะได้รับความรู้สึกหลังการอ่านที่แตกต่างกันอีกด้วยนะคะ เพราะเรื่องจดหมายจากเมืองไทยนำเสนอเนื้อเรื่องในรูปแบบของจดหมาย 100 ฉบับ ที่เล่าเรื่องราวในมุมมองของคนจีนที่มีต่อประเทศไทย พี่หวานขอการันตีเลยว่านิยายเรื่องนี้จะทำให้น้องๆ ได้รู้จักตัวตนของคนจีนในยุคที่เพิ่งอพยพมาตั้งตัวในประเทศได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ
 

3. สี่แผ่นดิน : เหตุการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านแผ่นดิน

มาถึงหนังสือเรื่องที่สาม พี่หวานคิดว่าต้องมีคนเคยอ่านหรือเคยดูละครเรื่องนี้กันมาเยอะเเน่ๆ เพราะนิยายชุดสี่แผ่นดินถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องทรงคุณค่าที่น่าสนใจ เเละมีรายละเอียดลึกซึ้น โดยมีการเล่าถึงช่วงชีวิต แม่พลอย ที่ต้องเปลี่ยนผ่านรัชกาลมาถึง 4 รัชกาล จึงเป็นที่มาของชื่อเรื่องสี่แผ่นดิน เมื่อช่วงปีที่ผ่านมาก็เป็นครั้งเเรกที่พี่หวานได้สัมผัสคำว่าเปลี่ยนผ่านรัชกาล เคยนึกอยากหยิบหนังสือเรื่องสี่แผ่นดินขึ้นมาอ่านอีกสักรอบอยู่เหมือนกันค่ะ เเต่ด้วยเวลาที่ไม่เป็นใจทำให้ยังไม่มีโอกาสได้อ่านอีกครั้ง จนกระทั่งอยากจะทำบทความนี้พี่หวานก็เลยพยายามนั่งนึกถึงนิยายที่บอกเล่าชีวิตของผู้คนในสังคมเเละวัฒนธรรมไทยที่ยังเห็นได้ชัด ทำให้ชื่อเรื่องสี่แผ่นดินปิ๊ง! ขึ้นมาในหัวพี่หวานทันทีค่ะ ความพิเศษของตัวละครเเม่พลอยคือเธอมีช่วงชีวิตที่ยาวนาน ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแทบทุกอย่างที่เกิดขึ้นในเเต่ละรัชกาล

เรื่องมันเริ่มต้นจากการที่แม่พลอยถูกส่งตัวเข้าไปอยู่ในวังจึงทำให้เราได้เห็นวัฒนธรรมของชาววังสมัยก่อน และวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของคนนอกวังที่มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเรื่องการบรรยายลักษณะการแต่งตัวของชาววังที่มีความประณีตเป็นพิเศษ และพี่หวานคิดว่าวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่เกิดการแบ่งแยกในสังคมเดียวกันอย่างนั้น ก็อาจจะเป็นที่มาของการมีนิยายสะท้อนวัฒนธรรมที่หลากหลายเเตกต่างกันของคนเเต่ละชนชั้นในลำดับต่อมาก็เป็นได้ค่ะ เพราะเรื่องความต่างชนชั้นเป็นอีกพล็อตอันหอมหวานที่อ่านยังไงก็ไม่รู้เบื่อเลยน้องๆ ว่ามั้ยคะ สำหรับเรื่องสี่แผ่นดินพี่หวานคิดว่าจุดเด่นที่ทำให้คนอ่านสนใจอยากจะอ่านต่อจนวางไม่ลงก็คงจะเป็นเหตุการณ์ในเรื่องที่เกิดขึ้นจนเวลาที่อ่านไปเกิดความรู้สึกร่วมและอินกับเนื้อเรื่อง เพราะคนไทยส่วนมากจะมีการรับรู้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในอดีตมาบ้างอยู่แล้ว พอได้อ่านนิยายที่อิงประวัติศาสตร์จึงทำให้รู้สึกว่าเนื้อเรื่องนั้นมีความน่าสนใจนั่นเองค่ะ สำหรับใครที่ชื่นชอบนิยายลักษณะนี้พี่หวานคิดว่าถ้าอ่านเเล้วจะต้องเห็นวัฒนธรรมไทยในอดีตหลายอย่างที่ยังปรากฏในปัจจุบันเเน่นอนค่ะ เช่น การให้ความเคารพต่อพระมหากษัตริย์ เราจะเห็นว่าคนสูงอายุหลายคนรักและเทิดทูนพระเจ้าอยู่หัวกับพระราชินีในฐานะพ่อแม่ของแผ่นดิน อย่างเเม่พลอยคือตัวละครที่ผูกพันกับพระมหากษัตริย์หลายรัชกาลเพราะมีชีวิตมานานถึงสี่แผ่นดิน และการสูญเสียไม่เคยทำให้เธอแข็งแกร่งเลยสักครั้งจนในที่สุดเมื่อรัชกาลที่ 8 สวรรคต แม่พลอยที่เจ็บป่วยออดแอดมานานก็ถึงคราวจากแผ่นดินที่สี่ไปเช่นกัน หากน้องๆ อยากเห็นภาพวัฒนธรรมไทยที่หลากหลายในสมัยก่อน เรื่องสี่แผ่นดินจะเป็นนิยายทรงคุณค่าอีกเรื่องที่พี่หวานจะแนะนำให้ลองไปอ่านกันนะคะ

 

4. ทวิภพ : อีกหนึ่งนิยายประวัติศาสตร์ที่มีการเล่นกับการข้ามเวลา


ชื่อเรื่อง ทวิภพ ก็เป็นการบอกชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องราวระหว่าง สองโลก ซึ่งยังเป็นพล็อตที่แปลกใหม่สำหรับวงการวรรณกรรมไทย(ในตอนนั้น) พี่หวานจึงคิดว่านี่เป็นนิยายเรื่องสำคัญที่มีการนำแนวคิดคล้ายๆ กับการทะลุมิติในนิยายต่างประเทศมาใช้ในนิยายไทย ซึ่งลักษณะการย้อนยุคข้ามเวลาจากปัจจุบันไปอดีตได้อย่างนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งวีธีที่ทำให้เราได้เห็นชีวิตของคนสองโลกที่มีความแตกต่างกัน การข้ามมาอีกโลกที่แปลกใหม่ได้พบกับวิถีชีวิต การปฏิบัติตัว หรือวัฒนธรรมที่ต่างจากคุ้นเคยในโลกเก่า ทำให้เราได้เห็นพัฒนาการของตัวละครทั้งเป็นไปในทิศทางยอมรับและค่อยๆ ปรับตัว หรืออาจจะต่อต้านในตอนเเรกเพราะสภาพแวดล้อมในโลกใหม่ขัดต่อความเชื่อของตนเองในโลกเก่าเป็นต้น

พี่หวานคิดว่านิยายลักษณะนี้มีเสน่ห์นะคะ นอกจากจะทำให้เรารู้สึกลุ้นถึงเหตุการณ์ที่จะมาเป็นจุดเปลี่ยนในการเชื่อมโลกแล้ว ยังทำให้รู้สึกว่าผู้เขียนจะนำเสนอความแตกต่างของสังคมสองโลกอย่างไรบ้างอีกด้วยค่ะ สำหรับเรื่องทวิภพมีจุดที่ทำให้พี่หวานคิดว่าน่าสนใจคือการวางตัวของคุณหลวงอัครเทพวรากร ที่มีความเป็นผู้ชายในยุคก่อนอย่างเต็มตัว เป็นคุณหลวงที่เคร่งครัดตามธรรมเนียนประเพณิอย่างมาก เเตกต่างจากมณีจันทร์ที่ทะลุกระจกผ่านเข้ามายังอดีตแต่ก็ยังสามารถรักษาความแก่นเซี้ยวของตัวเองเเละปรับตัวเข้ากับยุคอดีตได้อย่างลงตัว ซึ่งคาแรคเตอร์ของสองตัวละครทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งในเรื่องความคิด และการปฏิบัติตัว เมื่อมีเหตุการณ์ให้ต้องมาอยู่ด้วยกันกับคุณหลวงจึงทำให้พี่หวานรู้สึกสนุกที่ได้เห็นคนสองยุคต้องเผชิญหน้ากัน และพี่หวานก็คิดว่าด้วยฝีมือระดับคุณทมยันตีนิยายเรื่องทวิภพจึงเป็นอีกเรื่องที่สะท้อนภาพวัฒนธรรมของยุคอดีตเเละยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัวค่ะ 
 

5. คุณชายรัชชานนท์ : การเล่าถึงวัฒนธรรมความเชื่อของชนกลุ่มน้อยในสังคมไทย


มาถึงเรื่องนี้ พี่หวานคิดว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างทันสมัยมากขึ้น(จากเรื่องสี่เรื่องข้างบน) เพราะเรื่องคุณชายรัชชานนท์เป็นการหยิบเอาชนกลุ่มน้อยที่ซ่อนตัวอยู่ในป่ามาเป็นปมของเรื่อง โดยนางเอก สร้อยฟ้า เป็นหญิงสาวที่เติบโตและได้รับการเลี้ยงดูมาจากหมู่บ้านที่นี่ ส่วนพระเอกอย่าง คุณชายรัชชานนท์ เป็นวิศวกรที่ต้องไปดูงานเเถบภาคอีสานเเละได้ไปเจอกับหมู่บ้านนี้เข้าโดยบังเอิญ ทั้งๆ ที่ปกติแล้วหมู่บ้านวลาหกจะมีหมอกปกคลุมเพื่อป้องกันอันตรายจากภายนอกไม่ให้มีใครมองเห็น เเต่คุณชายรัชชานนท์สามารถมองผ่านม่านหมอกไปได้ ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านเชื่อว่าคุณชายรัชชานนท์คือกษัตริย์ผู้สวมมงกุฎที่จะมาช่วยเหลือหมู่บ้านจึงได้ต้อนรับและช่วยเหลืออย่างดีนั่นเองค่ะ ซึ่งการดำเนินเรื่องจึงเน้นไปที่พฤติกรรมชีวิตประจำวันของผู้คนในหมู่บ้าน ประเพณี และวัฒนธรรมความเชื่อต่างๆ จึงทำให้คนอ่านได้เห็นชีวิตชาวบ้านที่อยู่รวมกันในหมู่บ้านเล็กๆ ว่าพวกเขามีความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง

พี่หวานก็พบว่าหลากหลายวัฒนธรรมที่คุณซ่อนกลิ่นผู้เขียนนำเสนอเป็นวัฒนธรรมเฉพาะ เช่น การเเต่งงาน ที่มีความเชื่อว่าถ้าชายหญิงแค่โดนตัวกันก็จะถือว่าผิดผี เเละทั้งสองก็ต้องเเต่งงานกัน ในเรื่องคุณชายรัชชานนท์ได้กอดปลอบสร้อยฟ้าที่เสียใจเรื่องแม่ เเต่ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านมาเห็นเข้าแม้จะปฏิเสธว่าไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น เเต่สุดท้ายทั้งสองจึงต้องแต่งงานกัน ความเชื่อที่ว่าชายหญิงโดนตัวกันจะเป็นการผิดผีพี่หวานก็พอจะได้ยินมาบ้างนะคะว่าสมัยก่อนคนที่อยู่ชนบทเมื่อโดนตัวกันจะต้องแต่งงานกันจริงๆ ซึ่งไม่แน่ใจว่าในปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้จะยังเหลืออยู่หรือไม่ แต่ธรรมเนียมการแต่งงานที่คุณชายรัชชานนท์กับสร้อยฟ้าต้องเเต่งงานกันตามพิธีพื้นบ้านของหมู่บ้านวลาหก ผู้เขียนก็บรรยายเอาไว้ได้น่าประทับใจมากเลยค่ะ เพราะเป็นพิธีที่ละเอียดอ่อนเเละมีขั้นตอนที่รู้เฉพาะคนในหมู่บ้านเท่านั้น อีกหนึ่งวัฒนธรรมที่อาจจะถูกมองข้ามเเต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าชาวบ้านที่เป็นชนกลุ่มน้อย หรืออาศัยตามชนบทในหนังสือเมื่อออกมาสู่จอละครจะมีการแต่งกายด้วยชุดผ้าฝ้ายหรือผ้าทอ สิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายที่แตกต่างและสามารถทำให้เราแบ่งแยกระหว่างคนเมืองกรุงเเละชาวบ้านได้ด้วย เเม้ว่าคุณชายรัชชานนท์จะเป็นหนุ่มคนเมืองเเต่เมื่อได้เเต่งงานกับสาวชาวป่าที่มีผู้ใหญ่เคร่งเรื่องพิธีกรรมอย่างชาวบ้านวลาหกนี้ ก็เป็นเหตุให้ต้องเข้าพิธีตามที่พ่อใหญ่ของหมู่บ้านจัดการให้นั่นเองค่ะ พี่หวานคิดว่าตัวคุณชายรัชชานนท์เองไม่ได้เป็นตัวละครที่มีปัญหาหรือจะต่อต้านวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวบ้านนะคะ ออกจะเห็นด้วยและปฏิบัติตามโดยดีอีกต่างหาก แสดงให้เห็นถึงการยอมรับความต่างระหว่างวิถีชีวิตคนเมืองกับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี

 

นิยายทั้ง 5 เรื่องข้างต้นที่พี่หวานคัดเลือกมา เเม้ว่าอาจจะเป็นนิยายเรื่องยาวไม่ตรงจุดประสงค์ของการประกวดรางวัลพระยาอนุมานราชธนที่เป็นเรื่องสั้นซึ่งต้องมีตัวละครเเละรายละเอียดน้อยกว่านิยายหลายเท่าตัว เเต่พี่หวานคิดว่านิยายเหล่านี้จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจทำให้น้องๆ สามารถเข้าใจและเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมต่างๆ ในเเต่ละยุคสมัย เเต่ละสังคมได้ดีขึ้นมาบ้างเเน่นอนค่ะ และถ้าใครเริ่มอ่านนิยายก็อย่าอ่านเพลินจนลืมลงมือเขียนงานตัวเองด้วยนะคะ

พี่หวานเชื่อว่าเเรงบันดาลใจและจินตนาการในมือของน้องๆ จะสามารถทำให้เกิดผลงานที่น่าสนใจได้อย่างเเน่นอนค่ะ แต่ถ้าน้องๆ คิดว่าการอ่านนิยายจะนำมาใช้ในการเขียนเรื่องสั้นได้ยังไง พี่หวานก็มีเรื่องสั้นที่เขียนเล่าเรื่องพหุวัฒนธรรม หรือเรื่องราวเกี่ยวกับหลายวัฒนธรรมในครอบครัวหนึ่ง ชื่อเรื่องว่า ‘ฟันของทวด’ ที่ได้รับการแนะนำจากครูมอลลี่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนอยากให้น้องๆ ที่สนใจได้ลองอ่าน เพราะเมื่อเราอ่านมาก เราก็จะมีข้อมูลมากนั่นเองค่ะ ยังไงก็อยากให้ทุกคนไม่พลาดโครงการดีๆ อย่างนี้ ถ้าสนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้โดยคลิกที่ภาพด้านล่างนี้ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *